สศข.4 ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ดำเนินการโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ทดแทนการทำนาปรัง ลุยนำร่องในอำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด พร้อมเผยผลการศึกษาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง ร้อยละ 10 ของการลงทุน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงพื้นที่นาปรังไว้เหมือนเดิม และทำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียงแทน เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านประกันรายได้
นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง ปัญหาการปลอมปนพันธุ์ข้าวในข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในตลาดต่างประเทศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ทดแทนการทำนาปรัง ดังนั้น เพื่อสนับสนุนและสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) จึงได้ร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ในการจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ทดแทนการทำนาปรัง ดำเนินการนำร่องในอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งสอดรับกับโครงการระบบการปลูกข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศข.4 ได้ทำการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 เปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับผลการศึกษา การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 พบว่า มีผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่าการปลูกข้าวนาปรัง ประมาณร้อยละ 10 ของการลงทุน และจากการวิเคราะห์ทัศนคติและความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 จะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าการปลูกข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวนาปรัง รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านประกันรายได้ มีการชดเชยส่วนต่างราคาประมาณไร่ละ 1,500 บาท ซึ่งจะดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ดังนั้น จากข้อได้เปรียบในเรื่องของการประกันรายได้ของข้าวนาปรังทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงพื้นที่นาปรังไว้เหมือนเดิม แต่ทำการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 และข้าวนาปรังในปีนี้ พบว่า เกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตเสียหายและขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ เนื่องจากเกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 แต่ยังคงพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ จากลำน้ำเสียวและห้วยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำเสียวและห้วยแล้งมีปริมาณไม่เพียงพอ เพราะนอกจากจะใช้ในการเพาะปลูกที่มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องใช้ผลิตน้ำประปา เพื่อใช้ในเขตเทศบาลตำบลเกษตรวิสัยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การวางแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์และมาตรการพืชหลังนาในโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะพืชหลังนาที่ใช้ทดแทนการทำนาปรัง ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 ในพื้นที่นาปรังเพิ่มมากขึ้น โดยควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน — ธันวาคม เพราะจะทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีคุณภาพดี นอกจากนี้ ควรให้คำแนะนำและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรตากผลผลิตให้แห้งก่อนนำไปขาย เพื่อให้ผลผลิตมีความชื้นตามที่ตลาดต้องการ จะทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น และที่สำคัญ น้ำในการเพาะปลูกที่ต้องเพียงพอกับความต้องการของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะในช่วงออกดอก และติดฝัก
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--