เตือนภัยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต้องพร้อมรับมือเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดช่วงเมษายนนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday April 4, 2012 13:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.7 เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมรับมือการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในหลายพื้นที่ โดย 2 — 3 ปีที่ผ่านมา มักจะพบการระบาดในช่วงเดือน ก.พ. ถึง เม.ย. แนะ เกษตรกรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและปกิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันความเสียหาย

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังกำลังเผชิญปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งจากเดิมเคยพบการระบาดทุก 10 ปี แต่ระยะหลังในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จะพบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ — เมษายน และสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 จะเจอปัญหาเพลี้ยกระโดดระบาด ในหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมพื้นที่ระบาดประมาณ 800,000 ไร่ หากถูกเพลี้ยทำลายให้เสียหาย จะส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้เกือบ 5,000 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติของเกษตรกรไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ มีการใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ปทุมธานี ซึ่งไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวต่อไร่ในอัตราสูง (หว่านข้าวหนาแน่นเกินไป 3 ถังต่อไร่) และการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง ดังนั้น สศข.7 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมดำเนินมาตรการต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เช่น ตรวจสอบพื้นที่การระบาดและสนับสนุนเครื่องมือและปัจจัยเพื่อควบคุมการระบาด มีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลผ่านสื่อต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว ข้อความสั้น (SMS) วิทยุท้องถิ่น อบต. เทศบาล เว็บไซด์ของหน่วยงาน ประชาสัมพันธ์จังหวัด และสื่อท้องถื่นต่างๆ พร้อมมาตรการเฝ้าระวัง grnjvติดตามสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างต่อเนื่องแล้ว

อย่างไรก็ตาม นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฤดูการผลิตข้าวหน้าปีที่จะมาถึงนี้ เกษตรกรอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเช่นกัน แม้ว่าโดยปกติจะมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลน้อยกว่าฤดูข้าวนาปรังก็ตาม แต่หากเกษตรกรยังคงทำนาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดพักดินเพื่อตัดวงจรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็อาจประสบปัญหาได้ ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามข้อแนะนำทุกมาตรการ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายให้เบาบางลง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ