1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
งดจับปลาในฤดูมีไข่
อ่าวทะเลอันดามัน มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 27 ปี และระยะหลังได้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของชาวประมงในการดำเนินงาน ตามโครงการดังกล่าวมากขึ้น โดยประกาศฉบับปัจจุบันที่ใช้ คือการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ในพื้นที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และตรัง ภายในระยะเวลาที่กำหนด ฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุว่าฤดูปลามีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ระยะเวลาห้ามทำการประมงระหว่างวันที่ 1 เมษายน — 30 มิถุนายน ของทุกปี พื้นที่ห้ามทำการประมงประกอบด้วย บางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง รวมพื้นที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,935,000 ไร่ หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ ที่ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ดร. วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำมีโอกาสวางไข่แพร่ขยายพันธุ์ เลี้ยงตัวเจริญเติบโต เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและชาวประมงมีจิตสำนึกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในช่วงฤดูปลามีไข่ฯ และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนตลอดไป ในปีที่ผ่านมาจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าพื้นที่เคยเสื่อมโทรม ปลาผิวน้ำและปลาหน้าดินที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด รวมถึงทรัพยากรสัตว์น้ำที่เคย ลดน้อยลงไป จากการทำประมงที่มากเกินสมดุลของธรรมชาติที่จะผลิตทดแทนได้ทันกลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สามารถรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ และวางไข่เลี้ยงลูกให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยจำนวนสัตว์น้ำในช่วงระหว่างประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวฯ มีเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการฯ ถึง 4.7 เท่า การจับเฉลี่ย 820.28 กิโลเมตร และพบว่าสัดส่วนของปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กและกลุ่มปลาเป็ดแท้ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวสามารถคืนความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเล ให้กลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพอย่างดีเช่นเดียวกัน
สำหรับการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวฯ ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2555 กรมประมงได้กำหนดจัดพิธีขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ บริเวณศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลฝั่งอันดามัน กระบี่ ตำบลไสไทย
อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ขอให้พี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมิกับทางราชการ งดทำการประมงด้วยเครื่องมือกล่าวข้างต้น ในพื้นที่ที่กำหนดตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการทำการประมงกรณีพบเห็นผู้กระทำผิด พ.ร.บ. กรมประมงในช่วงใช้มาตรการดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน — 30 มิถุนายน 2555 โปรดแจ้งศูนย์ควบคุมและสั่งการ โทร 0-75-62-0510 ได้ตลอดเวลา
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 - 19 ก.พ. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,038.16 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 473.26 ตัน สัตว์น้ำจืด 564.90 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.44 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.80 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 60.30 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 23.43 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 82.98 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.75 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.99 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.76 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 75.36 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 74.57 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.79บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 94.29 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 96.43 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.14 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 136.37 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 139.87 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.50 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 127.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 125 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.00 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.44 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 40.49 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.35บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 76.43 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.57 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 100.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 9.33 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 180.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 178.57 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.09 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.11 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.02 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. — 5 เม.ย. 2555) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 27.20 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 เมษายน 2555--