สศก. หนุนขยายโครงการเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย เพิ่มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday April 24, 2012 11:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการจัดทำเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทย กรณีศึกษา สุกรขุน พบ เกษตรกรมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม จึงไม่มีการแพร่ระบาดของโรคในรอบหลายปีที่ผ่านมา แนะ สนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องพร้อมขยายผลไปยังภาคต่างๆ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่ผลักดันให้ไทยขยายฐานการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้มากขึ้น

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานโครงการจัดทำเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อมุ่งกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทยให้หมดไป และให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) ได้รับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี จันทบุรี สระแก้ว และตราด ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2552 — 2556)

โครงการดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินผลโครงการจัดทำเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทย กรณีศึกษา สุกรขุน ซึ่งพบว่า ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคในหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงของภาครัฐ จึงทำให้เกษตรกรมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในฟาร์มตัวอย่างทุกราย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุนเป็นอาชีพหลัก พบว่า มีการฉีดวัคซีนในการป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสุกร และการเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ทำให้ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ ประกอบกับการดำเนินงานโครงการฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ภาคตะวันออกของประเทศไทยมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงควรมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและขยายผลต่อไปในภาคต่างๆ ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ค่อนข้างสูง หลายประเทศยอมรับสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศไทย แต่มีข้อจำกัดในการส่งออกอันเนื่องมาจากภาวะการณ์แข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เป็นข้อกำหนดสำคัญในการกีดกันการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ของต่างประเทศ โดยการกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยให้หมดไปจากประเทศไทย จำเป็นต้องใช้กำลังคนและงบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายปี ซึ่งภาคตะวันออกของประเทศไทย นับว่ามีผลผลิตปศุสัตว์เพียงพอสำหรับการบริโภคและเหลือส่งไปจำหน่ายยังนอกพื้นที่ โดยเฉพาะสุกรซึ่งมีปริมาณการเลี้ยงมากที่สุด ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยน้อย จึงมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย โดยให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) รับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รองเลขาธิการ กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ