สศข.10 เปิดผลโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ชู เกษตรกรตอบรับเต็มที่

ข่าวทั่วไป Tuesday April 24, 2012 13:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ติดตามผลการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ปีงบประมาณ 2554 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม และกาญจนบุรี เผย เกษตรกรส่วนใหญ่ พึงพอใจมากต่อการให้บริการ และอยากให้มีการขยายเวลาการจัดงานให้มากกว่านี้ เนื่องจากได้รับความรู้ และประโยชน์จากการได้รับการแจกปัจจัยการผลิตและการให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

นายสมมาตร ยิ่งยวด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 10 ราชบุรี (สศข.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และการพัฒนาต่อเนื่อง (follow up) ในการจัดงานคลินิกเกษตรฯ ของปีงบประมาณ 2554 ใน 3 จังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม และกาญจนบุรี

ผลการติดตามในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจัดที่โรงเรียนบ้านหนองขาม หมู่ที่ 6 ตำบลศาลาลัย กิ่งอำเภอสาม ร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการสุ่มเกษตรกรที่ผ่านการรับบริการคลินิกโดยภาพรวมของการติดตาม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงเฉลี่ยร้อยละ 66 และเพศชายเฉลี่ยร้อยละ 34 การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 79 รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษา เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 35.00 และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา/ทำไร่ ที่ร้อยละ 57 รองลงมา ได้แก่ ค้าขาย ในด้านความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ที่ร้อยละ 54 และต้องการให้มีการจัดงานคลินิกเกษตรขึ้นอีก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการได้รับการแจกปัจจัยการผลิต เกษตรกรที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะว่า อยากได้รับปัจจัยพื้นฐานแก่ครอบครัว และความรู้ด้านการเกษตร ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้แจก การแจกพันธุ์พืชไม่เพียงพอ การอบรมสาธิตการเพาะปลูกเห็ด เป็นต้น

          จังหวัดนครปฐม จัด ณ วัดห้วยพระ หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยพระ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม  พบว่า ภาพรวมของการติดตามเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงเฉลี่ยร้อยละ 60 และเพศชายเฉลี่ยร้อยละ 40 การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 73 รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษา เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุ 41-50 ปี คิดเป็นร้อยละ 34 รองลงมา คือ อายุมากกว่า 60 ปี และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ 75 รองลงมา คือ ทำนา/ทำไร่  ด้านความ         พึงพอใจต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ที่ร้อยละ 78 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดงานคลินิกเกษตรขึ้นอีกและเพิ่มเวลาในการจัดงานให้นานกว่านี้ และควรมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อการการใช้บริการของเกษตรกรที่มีจำนวนมาก

สำหรับผลการติดตามของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจัดงานที่ วัดโพธิ์เอน หมู่ที่ 9 ตำบลหนองปลิง อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยภาพรวมของการติดตามเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เฉลี่ยร้อยละ 56 และเพศหญิง ร้อยละ 44 การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาเฉลี่ยร้อยละ 81 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีอายุ 51 — 60 ปี ร้อยละ 49 รองลงมาอายุ 41-50 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา/ทำไร่ ร้อยละ 91 รองลงมา คือ ค้าขาย ส่วนด้านความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ พบว่า เกษตรกรพึงพอใจมาก ถึงร้อยละ 95.00และเกษตรกรต้องการให้มีการจัดงานคลินิกเกษตรขึ้นอีก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการได้รับการแจกปัจจัยการผลิต เกษตรกรที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะว่า อยากได้รับปัจจัยพื้นฐานแก่ครอบครัว ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้แจก เป็นต้น

ทั้งนี้ นายสมมาตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ทาง สศข.10 จะมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นประจำในแต่ละช่วงไตรมาส โดยจะมีการสุ่มพื้นที่ของแต่ละจังหวัดที่รับผิดชอบและรายงานให้ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรับทราบเพื่อสรุปเป็รายงานเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ