สศก. เผย การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดในภาพรวม ทั้งกรณีมีเงินอุดหนุนและไม่มีเงินอุดหนุนมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน หนุนส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดเล็ก ผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์ม ช่วยลดปัญหามลภาวะและลดต้นทุนการผลิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมหาแนวทางในการลดขั้นตอน เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการเพื่อประกอบการตัดสินใจของเกษตรกร
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาความคุ้มค่าในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด ว่า การจัดทำกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เป็นกลไกหนึ่งที่กำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโตเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในเบื้องต้นได้กำหนดสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉพาะปีที่ 1-2 ไว้ที่ราคา 17 เหรียญสหรัฐต่อตัน (สำหรับ 253,500 ตันแรก) และหลังจากนั้นจะซื้อขายในราคาตลาด ซึ่งแม้ว่าฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการดำเนินการค่อนข้างสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการลงทุน โดยศึกษาจากฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการ CDM ของกรมปศุสัตว์ จำนวน 10 ฟาร์ม และกำหนดให้อายุโครงการเท่ากับ 10 ปี มีอัตราคิดลดร้อยละ 7.00
จากวิเคราะห์ทางการเงินของการลงทุนในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด ที่เข้าร่วมโครงการของกรมปศุสัตว์ทั้งกรณีที่มีเงินอุดหนุนและไม่มีเงินอุดหนุน พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 188.16 และ 131.00 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (BCR) มีค่าเท่ากับ 1.56 และ 1.36 และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) เท่ากับร้อยละ 45 และ 25 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การลงทุนในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดในภาพรวม (10 ฟาร์ม) ทั้งกรณีมีเงินอุดหนุนและไม่มีเงินอุดหนุนมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน
หากวิเคราะห์ถึงความอ่อนไหวของโครงการทั้ง 2 กรณีข้างต้น พบว่า การลงทุนในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาดจะไม่คุ้มค่า หากผลตอบแทนของของโครงการลดลงมากกว่า ร้อยละ 63 และ 54 ตามลำดับ และหากต้นทุนในการลงทุนของโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 56 และ 39 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่า ราคาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันมีความผันผวนสูง ดังนั้น การก่อตั้งกองทุนคาร์บอนเครดิตจึงเป็นประเด็นที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำมาพิจารณาในการส่งเสริม โครงการการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกรภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นับว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งกรณีที่มีเงินอุดหนุนและไม่มีเงินอุดหนุน อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ เช่น ห้ามเพิ่ม/ลด จำนวนหรือขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้ามขายไฟฟ้า ห้ามนำน้ำเสียจากฟาร์มอื่นหรือน้ำเสียอื่นๆ มาบำบัดในระบบ ห้ามนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ นอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้าและเผาทิ้ง ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของเกษตรกร ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาแนวทางในการลดขั้นตอน เงื่อนไข และระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดเล็กมีการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในฟาร์มสุกร เพราะนอกจะช่วยลดปัญหาในเรื่องของมลภาวะและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--