นครพนมประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้วทั้ง 12 อำเภอ เตือนเกษตรกรรับมือพื้นที่เกษตรเสียหาย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 8, 2012 15:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์ภัยแล้งนครพนมขยายวงกว้าง ล่าสุดประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งหมด 12 อำเภอแล้ว ส่งผลพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 30,000 ไร่ ด้านจังหวัดเตรียมงบประมาณจัดสรรแล้ว อำเภอละ 1 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง แนะเกษตรกรติดตามข่าวสาร จากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อพร้อมรับสถานการณ์

นายยรรยงค์ แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 จังหวัดอุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดนครพนม โดยได้รับทราบจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมว่า เบื้องต้นพบชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 78,771 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 30,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาปรัง ได้รับผลกระทบหนักสุดเป็นพื้นที่ อ.ศรีสงคราม ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร ล่าสุดจังหวัดนครพนม ได้ประกาศให้จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งหมดครบ 12 อำเภอ จำนวน 97 ตำบล 1,065 หมู่บ้านแล้ว

ซึ่งจากการสำรวจของ สศข.3 พบว่า สถานการณ์การผลิตข้าวนาปรัง ปีเพาะปลูก 2555 ในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 87,470 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง 39,720 ตัน แต่จากการที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จึงอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตได้ และมีแนวโน้มขยายวงกว้างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางจังหวัด ได้เร่งให้การสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้การช่วย เหลือบรรเทาทุกข์ ส่วนการจัดสรรงบประมาณ ทางจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณให้การช่วยเหลือเบื้องต้น อำเภอละ 1 ล้านบาท ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาขาดน้ำได้ประสานงานกับชลประทาน นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยเน้นให้หน่วยงานสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ทันต่อเวลา ทั้งนี้ ในฤดูแล้งนอกจากปัญหาที่เกิดจากภัยแล้งแล้ว ยังมีภัยที่เกิดจากพายุฤดูร้อน และลูกเห็บตก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้น เกษตรกรและประชาชนจะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ด้วย นายยรรยงค์ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ