เตือนเกษตรกรปลูกยางภาคอีสาน พร้อมเฝ้าระวังโรครากขาวในช่วงฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 8, 2012 15:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.3 เตือนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราภาคอีสาน เฝ้าระวังโรครากขาวที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ที่เกิดขึ้นได้กับทั้งยางอ่อนและยางแก่ แนะเกษตรกรหมั่นสังเกต และตรวจสอบต้นยางอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย สามารถขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์วิจัยยางในพื้นที่ใกล้บ้าน

นายยรรยงค์ แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม และบึงกาฬ พบว่า มีประมาณ 2,281,966 ไร่ พื้นที่กรีดยางพาราได้ 884,309 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ขอให้เตรียมระวังโรครากขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อราจำพวกเห็ดชั้นสูง มักระบาดในช่วงฤดูฝนที่เกิดขึ้นได้กับทั้งยางอ่อนและยางแก่ โดยแปลงยางที่เป็นโรครากขาว สามารถสังเกตได้จากมีต้นยางยืนต้นตาย พุ่มใบยางเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม ขอบใบห่อลง ใบร่วงหมดทั้งต้น ถ้าตรวจดูที่รากจะเห็นเส้นใยของเชื้อราแตกสาขาเป็นร่างแหจับติดแน่น และแผ่ปกคลุมราก เส้นใยอ่อนมีลักษณะสีขาวปลายแบน เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะนูนกลม และกลายเป็นสีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลซีด ในช่วงที่มีฝนตกอาจมีดอกเห็ดขึ้นบริเวณโคนต้นยาง ลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวกันหรือซ้อนกันหลายแผ่น ผิวบนสีเหลืองแกมส้ม ขอบสีขาว ส่วนผิวล่างมีสีส้มแดงหรือน้ำตาล ถ้าตัดดอกเห็ดตามขวาง จะเห็นชั้นบนเป็นสีขาวและชั้นล่างเป็นสีน้ำตาลแดงชัดเจน นอกจากนี้ สปอร์เชื้อรายังแพร่กระจายได้โดยน้ำ ลม และแมลง สามารถเข้าทำลายต้นยางทางบาดแผล ทำให้ต้นยางเป็นโรค

สำหรับวิธีการป้องกัน เกษตรกรต้องมีการเตรียมพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่หรือปลูกแทน และจะต้องกำจัดเศษ รากยาง เศษตอไม้นำไปเผาทำลาย ไถพลิกหน้าดิน โดยตากดินไว้ประมาณ 10-20 วัน แล้วไถพลิกหน้าดินอีกครั้ง และผสมผงกำมะถันประมาณ 150 - 200 กรัมกับดินในหลุมปลูกยาง ทิ้งไว้ 1-2 เดือนก่อนปลูกยาง เพื่อทำลายเชื้อราอันอาจทำให้เกิดโรค และหากตรวจพบโรครากขาว ควรขุดร่องล้อมรอบต้นยางที่เป็นโรค ไม่ให้รากยางที่เป็นโรคไปสัมผัสกับรากยางที่ไม่เป็นโรค แล้วตัดต้นและกำจัดรากต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง นำไปเผาทำลายให้หมด ร่วมกับการใช้สารเคมี ไซไพรโคนาโซล หรือไตรดีมอร์ฟ 10 - 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น ราดโคนต้นที่เป็นโรคและต้นข้างเคียง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะราดสารเคมีควรขุดดินรอบโคนต้นให้เห็นรากแขนง แต่อย่าให้รากลอย แล้วค่อยราดสารเคมี จากนั้น 3 - 6 เดือน ให้ราดสารเคมีซ้ำ โดยต้องระวังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพริก มะเขือเปราะ มันเทศ มันสำปะหลัง น้อยหน่า ลองกอง สะเดาเทียม และทุเรียน เพราะเป็นพืชอาศัยของโรค อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องหมั่นตรวจสอบต้นยางอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย สามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์วิจัยยาง ในจังหวัดที่ใกล้บ้านท่าน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ