สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมให้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตร และวิถีการดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่าย ส่งผลเกษตรกรลดรายจ่ายได้จริง เผย ปี 55 ตั้งเป้าดันศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน จัดอบรมสู่เกษตรกรกว่า 1 หมื่น 6 พันราย
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน นำไปใช้จัดอบรมถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำการเกษตร รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่าย เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีการดำเนินการประเมินผลเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านไปแล้วเมื่อปี 2550 และพบว่าเกษตรกรที่ผ่านการอบรม จำนวน 17,070 ราย หรือร้อยละ 74 นำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต โดยในปี 2551 สามารถลดรายจ่ายได้รวมประมาณ 247 ล้านบาท คิดเป็น 3 เท่าของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ ปี 2550 จำนวน 85 ล้านบาท โดยรายจ่ายที่ลดได้มากที่สุด ได้แก่ รายจ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ที่เกษตรกรนำความรู้จากการอบรมไปผลิตเอง ทั้งนี้ สศก. ได้ดำเนินการติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว เป็นระยะตลอดเรื่อยมา
และสำหรับในปีงบประมาณ 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามความก้าวหน้าการติดตามโครงการ ในช่วง 7 เดือน (ระหว่างตุลาคม 2554 — เมษายน 2555) ซึ่งพบว่า ทางศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ได้จัดอบรมเกษตรกรแล้ว 8,420 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 16,700 ราย และจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่ผ่านการอบรมในปี 2554 พบว่า เกษตรกร ร้อยละ 89 ลดรายจ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,567 บาท ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งการซื้ออาหารและของใช้ การซื้อปุ๋ยเคมี และสารเคมี รวมทั้งการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ
รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านจัดอบรมเกษตรกร ตามโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตร และวิถีการดำเนินชีวิตจากประสบการณ์จริงของปราชญ์ชาวบ้านในลักษณะเกษตรกรสอนเกษตรกร ซึ่งสามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ง่าย ส่งผลให้เกษตรกรสามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันได้คิดเป็นมูลค่าสูงกว่างบประมาณที่ใช้ตามโครงการ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--