สศข.1 หนุนเกษตรกรกระจายผลผลิต ชูทางเลือกใหม่ ตลาดลำไย 5 ช่องทาง

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2012 11:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 สานต่อการดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีคุณภาพลำไยจังหวัดเชียงใหม่หลังจากประสบผลสำเร็จได้ผลผลิตลำไยเกรดจำโบ้ เดินหน้าสร้างตลาดทางเลือก 5 ช่องทาง เสริมรายได้เกษตรกร ช่วยกระจายผลผลิตแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 เชียงใหม่ (สศข.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินร่วมกันกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตร และเกษตรกรในพื้นที่ระหว่างปี 2553 — 2554 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตลำไยให้ได้เกรดจัมโบ้ (เกรด AA) น้ำหนัก 40 ผล/กิโลกรัม ซึ่งบางรายสามารถทำลำไยได้เกรดจัมโบ้ถึง 100% ให้ผลผลิตต่อไร่ 5 ตัน นับเป็นการเพิ่มทั้งปริมาณ และคุณภาพ โดยเกษตรกรมีความพึงพอใจมาก

ดังนั้น ในปี 2555จึงได้มีแนวคิดสานต่อการดำเนินงานดังกล่าว โดยสร้างตลาดทางเลือกใหม่ 5ช่องทาง เป็นการกระจายผลผลิต เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งผู้บริโภคได้บริโภคลำไยคุณภาพดี สมราคาและคุณภาพมาตรฐาน เชื่อถือได้ แบบสะดวกและรวดเร็วในการซื้อหาบริโภค นอกจากนี้ ยังมีโอกาสกระจายไปยังตลาดส่งออกได้ โดยเฉพาะลำไยแปรรูปที่ทางโรงงานรับซื้อต่อจากพ่อค้า สำหรับรูปแบบตลาดทางเลือกลำไย 5 ช่องทางดังกล่าว มีลักษณะรูปแบบของตลาด ดังนี้

1. ตลาดพ่อค้าในโครงการ โดยเกษตรกรขายลำไยคุณภาพให้พ่อค้าที่ร่วมโครงการ ราคาจะสูงกว่าที่ล้งรับซื้อ เช่น ล้งรับซื้อ 20 บาท/กก. พ่อค้า จะรับซื้อไม่ต่ำกว่า 24 บาท/กก. โดยกำหนดจุดรับซื้อและมาตรฐานตามข้อตกลง

2. ตลาดไปรษณีย์ ไปรษณีย์จะขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ต้องมีจุดรวบรวมลำไยสด ตามคุณภาพที่ได้มาตรฐานกำหนด และรมซัลเฟอร์เรียบร้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จะตรวจรับ และบรรจุกล่องโดยใช้บรรจุภัณฑ์ของไปรษณีย์ มีเกษตรกรจะเป็นผู้ตั้งราคาร่วมกับไปรษณีย์ และไปรษณีย์จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยง

3. ตลาดเกษตรกรจัดการด้วยตนเอง โดยเกษตรกรที่พร้อมจะจัดการด้านการตลาดเอง ดำเนินการส่งถึงมือผู้บริโภคเป็นลักษณะขายปลีก มีเกษตรกรเป็นผู้รวบรวม คัดเกรด บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง และทำการตลาดเอง ซึ่งระยะแรกส่วนราชการจะประสานผู้บริโภคปลายทาง พร้อมกับระบุปริมาณที่ปลายทางต้องการ ทั้งนี้ ตลาดลักษณะดังกล่าว เกษตรกรสามารถตั้งราคาได้เอง แต่จะต้องรับความเสี่ยงเอง

4. ตลาดความร่วมมือเกษตรกรกับพ่อค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง สำหรับเกษตรกรที่ไม่พร้อมด้านการตลาด จะประสานพ่อค้าที่ชำนาญ มีประสบการณ์ มาร่วมทำตลาดกับเกษตรกร โดยเกษตรกรเป็นผู้รวบรวม คัดเกรด บรรจุภัณฑ์ ขนส่งถึงมือพ่อค้าปลายทางและกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ

5. ตลาดค้าส่งต่างจังหวัด ลักษณะลู่ทางตลาดนี้ค่อนข้างแจ่มใส เพราะภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ยังไม่ค่อยมีผู้ทำตลาดลำไยสด โดยเกษตรกรจะร่วมกับการค้าภายในจังหวัดแต่ละจังหวัดดำเนินการประสานพ่อค้าเพื่อขายส่ง

สำหรับรูปแบบตลาดทางเลือกลำไย 5 ช่องทางดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีของพี่น้องเกษตรกร ชุมชน พ่อค้า หน่วยงานที่ร่วมและผู้บริโภค เนื่องจากทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นการบูรณาการร่วมในพื้นที่เกี่ยวกับด้านการตลาดให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร สามารถช่วยแก้ปัญหาลำไยราคาตกต่ำไปได้อีกช่องทางหนึ่ง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรได้รับจะสูงกว่าราคาในพื้นที่ประมาณร้อยละ 20 - 80 นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ