ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday July 10, 2012 14:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคเนื้อสุกร แม้ว่าในช่วงนี้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 59.03 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 58.92 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.19 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 60.15 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 57.53 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 59.83 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 55.86 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,500 บาท (บวกลบ 57 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 58.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 71.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.40

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อสัปดาห์นี้ ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดมากขึ้นทั้งปริมาณและน้ำหนัก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงชะลอตัวลงพราะในหลายพื้นที่ยังคงมีฝนตก การซื้อขายไม่คล่องตัว อีกทั้งมีอาหารและสัตว์น้ำตามธรรมชาติออกสู่ตลาด แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

สถานการณ์ข่าวในประเทศ

ความคืบหน้าการส่งออกไก่สดไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป ตามที่คณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ได้มีมติยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป หลังจากที่เคยระงับการส่งออกจากประเทศไทยด้วยโรคไข้หวัดนกตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2547 นั้น กรมปศุสัตว์ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการให้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ปีกให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีก ทั้งในส่วนของไก่หมักเกลือ ที่ประเทศไทยได้โควต้าปีละ 92,610 ตัน และไก่ดิบสด ซึ่งไม่มีการกำหนดโควต้า ในครึ่งหลังของปี 2555 (2 กรกฎาคม — ธันวาคม 2555) ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดไปสหภาพยุโรปได้ ประมาณ 50,000 ตัน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกไปสหภาพยุโรปในช่วง 4 เดือนแรกยังสามารถส่งออกได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2554 คือ จำนวน 66,608 ตัน มูลค่า 8,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.90 โดยมีประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกหลักจากไทย ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและเนื้อไก่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคและมีราคาถูกกว่า เนื้อวัว และเนื้อสุกร ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงคาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกของไทยมากนัก ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ควบคุมและตรวจสอบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกอย่างเข้มงวดตลอดทั้งวงจรการผลิตเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพื่อส่งออกทุกแห่งได้รับการรับรองระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (ระบบ HACCP) จากกรมปศุสัตว์ และสามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกได้ จนทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดไปยังสหภาพยุโรปได้อีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกของไทย เพื่อเปิดตลาดการส่งออกไก่สดของไทยไปยังประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ที่ไทยยังไม่สามารถส่งออกได้อีกด้วย

สถานการณ์ข่าวต่างประเทศ

รัฐบาลเม็กซิโกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศว่าด้วยสุขภาพของสัตว์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 55 หลังตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกกำลังแพร่ระบาดหนัก โดยมีสัตว์ปีกติดเชื้อราว 1.7 ล้านตัว และตายไปแล้วราว 870,000 ตัว ในฟาร์ม 10 แห่งของรัฐฮาลิสโก ทั้งนี้ได้ใช้หลักเกณฑ์กำหนดว่าด้วยการกักบริเวณ การเชือด การฉีดวัคซีน และการทำลายสินค้าที่ปนเปื้อนเชื้อหวัดนก กระทรวงเกษตรเม็กซิโกระบุว่า ฟาร์มสัตว์ปีกคิดเป็นร้อยละ 40 ของการเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ซึ่งมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคงไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้

สถานการณ์แพร่ระบาดไข้หวัดนกในเอเชียช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. 55

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้รับรายงานสถานการณ์ไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง โดยแผนเฝ้าระวังที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งฟาร์มปศุสัตว์ ตลาดค้าสัตว์ปีก ไปจนถึงร้านขายสัตว์เลี้ยง ได้เก็บตัวอย่างซากนกกระติ๊ดขี้หมู (Lonchura punctulata) ที่เป็นนกประจำถิ่นของฮ่องกง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 และพบว่ามีผลตรวจไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงเป็นบวก ซึ่งได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสำหรับฟาร์มไก่ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากจุดที่พบซากนกแล้ว

นอกจากนี้รายงานอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าในเมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม มีการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ต้องทำลายสัตว์ปีกกว่า 7,000 ตัว ส่วนประเทศอินโดนีเซีย รายงานล่าสุดในเดือนเมษายน 2555 มีอัตราการพบไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงตั้งแต่ 1.4 ถึง 18.1 ต่อ 1,000 หมู่บ้าน โดยพบมากสุดอยู่ในเกาะบาหลี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 42.31 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.56 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.59 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 36.52 บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 45.24 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.25 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 45.89 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 12.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.00 บาท บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 37.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.00 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และฝนตกในหลายพื้นที่ทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยน้อยลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลง

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 271 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 274 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.09 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 272 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 293 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 255 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 299 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 11.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 245 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 275 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 10.91

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 307 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 298 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 320 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 297 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 313 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 360 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 57.36 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.17 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.33 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 56.20 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.08 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 61.18 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 59.11 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 46.00 บาท บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 45.88 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.26 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 60.51 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 43.09 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 กรกฎาคม 2555--


แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ