แนะเกษตรกรพริกไทย พร้อมรับผลกระทบระยะยาวจากตลาดเสรีอาเซียน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 11, 2012 10:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดผลศึกษาอุปสงค์ อุปทานพริกไทย ทั้งก่อนและหลังการเปิดเสรีทางการค้า ระบุ ในระยะสั้น แม้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี แต่ในระยะยาว อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แนะ วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ และเกษตรกรต้องเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการศึกษาอุปสงค์ อุปทานพริกไทย ทั้งก่อนและหลังการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจากผลการศึกษาในระยะสั้น เกษตรกรยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ AFTA เนื่องจากผลผลิตพริกไทยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้อยู่ประมาณ 2,700 - 3,700 ตัน แต่ในระยะยาว คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาปรากฏว่า อัตราภาษีมีผลกระทบต่อการนำเข้ามาก อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการพริกไทยอย่างมาก ได้แก่ ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ และรายได้ของผู้บริโภค ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิตพริกไทย ได้แก่ ราคาพริกไทยที่เกษตรกรขายได้ซึ่งปลูกในพื้นที่เดียวกันกับผลไม้ และราคาเงาะโรงเรียนที่เกษตรกรขายได้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการส่งออกพริกไทย ได้แก่ ราคาส่งออก และราคาขายส่งในประเทศ ด้านปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการนำเข้าได้แก่ ราคานำเข้าพริกไทยเมล็ด ราคาขายส่งในประเทศและอัตราภาษีนำเข้า

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการคาดคะเนในช่วงปี 2556 - 2558 พบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด เฉลี่ยต่อปีร้อยละ 6 รองลงมาได้แก่ปริมาณการนำเข้า และปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ เฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2 และ 1 ตามลำดับ ส่วนปริมาณการผลิต มีอัตราลดลงค่อนข้างมากเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 20 และปริมาณการส่งออกลดลงเฉลี่ยต่อปีเกือบร้อยละ 2

ทั้งนี้ จากการที่พริกไทยซึ่งในอดีตถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกและผลผลิตทั้งประเทศ และเป็นหนึ่งในสินค้าจำนวน 23 รายการที่ต้องมีการกำหนดปริมาณและอัตราภาษีนำเข้า(Tariff Rate Quota: TRQ) ของการเปิดตลาดภายใต้ WTO แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์พริกไทยได้เปลี่ยนแปลงไป โดยผลผลิตได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ประกอบกับเกษตรกรมีทางเลือกในการปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้บางส่วนปรับลดพื้นที่การผลิตลง ซึ่งอาจจะขาดแคลนผลผลิตในอนาคต

ดังนั้น ในระยะสั้น ภาครัฐควรดำเนินนโยบายวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ โดยสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณผลผลิต ด้วยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต ส่วนในระยะยาว ควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกพริกไทยอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาเป็นเวลานาน สนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับชนิดของพืชที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นต้นค้างทดแทนค้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีต้นทุนสูง รวมทั้งให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐฯ ผู้ประกอบการและผู้ผลิตทั้งในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น รองเลขาธิการกล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ