สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามสถานการณ์การปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมไทย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม เผย ราคารังไหมสดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีความพึงพอใจ แนะพัฒนาการผลิตไหมหัตถกรรมในครัวเรือนสู่ไหมอุตสาหกรรมเพื่อเสริมรายได้เกษตรกร
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมไทย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานการณ์การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม พบว่า ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา โดยขณะนี้เป็นช่วงว่างจากทำนา จึงมีการเริ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรวม 2 จังหวัด มีจำนวน 10,697 ราย พื้นที่ปลูกหม่อน 6,159 ไร่ และมีผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม 3,562 ราย โดยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งไข่ไหม พันธุ์หม่อน ปัจจัยการผลิต และการอบรมหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรการเตรียมแปลงปลูกหม่อน การดูแลรักษาแปลงหม่อน วิธีการตกแต่งกิ่งหม่อน การเลี้ยงไหมวัยอ่อน โรคและแมลงหม่อนไหม เป็นต้น
สำหรับพันธุ์หม่อนที่ปลูกได้แก่ พันธุ์สกลนคร และพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ส่วนพันธุ์ไหมพื้นเมือง เช่น นางน้อย นางขาว นางลาย เป็นต้น พันธุ์ไหมไทยลูกผสม เช่น ดอกบัว เหลืองไพโรจน์ เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์หม่อนไหมฯ ร้อยเอ็ด ได้กำหนดแผนการเลี้ยงไหมให้เกษตรกร ปีละประมาณ 5 - 6 รุ่น โดยรังไหมสดที่เกษตรกรผลิตได้ จะจำหน่ายให้แก่กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โรงสาวไหมบ้านโนนงาม ตำบลห้วยเตย อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคาม รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ รวม 64 ราย ซึ่งทางกลุ่มฯ จะรับซื้อรังไหมสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 160 - 180 บาท
สำหรับรายได้ของกลุ่มฯ ต่อรุ่นจากการผลิตเส้นไหมและได้ผลพลอยได้ คือ ดักแด้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 90,000 บาท ต้นทุนประมาณ 80,000 บาท โดยราคาเส้นไหมเกรด 1 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,700 - 1,800 บาท ราคาเส้นไหมเกรด 2 ราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท และราคาเส้นไหมเกรด 3 ราคากิโลกรัมละ 600 - 700 บาท เป็นระดับราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาตลาด และเกษตรกรมีความพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรยังขาดแหล่งน้ำในการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงหนอนไหม จึงควรมีการประสานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ชลประทานตำบล พัฒนาที่ดินตำบล หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขุดสร้างแหล่งน้ำ บ่อบาดาล วางระบบท่อ หรือสปริงเกอร์ เพื่อให้สามารถกระจายแหล่งน้ำเข้าไปยังแปลงหม่อนของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง
รองเลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงพื้นที่ปลูกหม่อนและเลี้ยงไหมในจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคามว่า หากได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสม จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการเลี้ยงไหมไทยต่อไป เนื่องจากมีองค์ประกอบและปัจจัยพร้อม อาทิ วิทยากรจากศูนย์หม่อนไหมฯ ร้อยเอ็ดใกล้แหล่งผลิต ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี รวมถึงเกษตรกรมีความพร้อมและความตั้งใจจริงในการเรียนรู้และพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม ส่วนแนวทางการพัฒนาในอนาคต ควรเป็นการพัฒนาจากการผลิตไหมหัตถกรรมในครัวเรือน ไปสู่ไหมอุตสาหกรรมได้ รวมถึงควรมีการพัฒนาการผลิตผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เช่น ดักแด้ ไวน์หม่อน ชาใบหม่อน และเครื่องสำอางต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรต่อไปด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--