สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามผลการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ของสหกรณ์โคนมสอยดาว จ.จันทบุรี ภายหลังปรับเปลี่ยนฟาร์มเข้าสู่ระบบอินทรีย์ตามนโยบายแผนพัฒนาหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ปี 2555 — 2557 เผย ผลการดำเนินงานไปได้สวย เกษตรกรขายได้ราคาสูงกว่าน้ำนมทั่วไป และมีตลาดรับซื้อแน่นอน พร้อมเตรียมแนวทางส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกรสมาชิกให้เข้าสู่ระบบอินทรีย์มากขึ้น
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่หน่วยงานภาครัฐผลักดันให้มีการเลี้ยงปศุสัตว์แบบชีวภาพ หรือปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งทางจังหวัดจันทบุรีได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าในระบบอินทรีย์ โดยจังหวัดมีแผนพัฒนาหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ปี 2555-2557 จำนวน 30 หมู่บ้าน ในวงเงินงบประมาณ 5.5 ล้านบาท ดังนั้น สหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด จึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคนมในฟาร์มเข้าสู่ระบบอินทรีย์ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ผลิต เนื่องจากเป็นการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์อย่างปลอดภัย ปราศจากสารตกค้างและปนเปื้อนยาอันตรายและสารเคมี โดยเริ่มตั้งแต่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ปล่อยให้โคแทะเล็มหญ้าในแปลงที่ปลูกเองในระบบธรรมชาติอย่างอิสระ ไม่ให้เกิดความเครียด และเน้นให้โคกินพืชอาหารสัตว์ที่เป็นอาหารหยาบมากขึ้น ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนในระบบการเลี้ยง มุ่งเน้นผลิตน้ำนมอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ของสหกรณ์โคนมสอยดาว จ.จันทบุรี พบว่าหลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนฟาร์มเข้าสู่ระบบอินทรีย์แล้ว ทำให้ฟาร์มมีตลาดรับซื้อแน่นอน และขายได้ราคาสูงกว่าน้ำนมทั่วไปร้อยละ15 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 118 ราย เลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมดิบ มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบวันละประมาณ 17 - 18 ตันต่อวัน เฉลี่ยแม่โคหนึ่งตัวให้น้ำนมดิบได้ประมาณ 15กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน โดยสหกรณ์ฯ จะรับซื้อน้ำนมดิบกิโลกรัมละ 16.50 - 16.80 บาท ซึ่งร้อยละ 70 ของน้ำนมดิบที่สหกรณ์รับซื้อจะขายให้กับ บมจ.ฟรีสแลนด์ คัมพิน่า (ประเทศไทย) ในราคากิโลกรัมละ 17.80 บาท และสหกรณ์ฯ จัดส่งให้บริษัทด้วยรถขนส่งน้ำนมสดครั้งละ 15 ตัน ค่าขนส่ง 6,000 บาท แบบส่งทุกวัน และอีกร้อยละ 30 จะแปรรูปเป็นนมพาสเจอไรซ์ขายให้โรงเรียนในราคาตามโครงการอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดภาคเรียนจะทำข้อตกลงกับบริษัทโฟร์โมสต์ ให้รับซื้อน้ำนมสดร้อยละ 90 และสหกรณ์จะรับนม UHTของบริษัทฯ มาจำหน่าย ส่วนอีกประมาณร้อยละ 10 ส่งให้สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด
ทั้งนี้ ทางสหกรณ์ฯ มีแผนที่จะผลิตอาหารข้นเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกโดยส่วนผสมของอาหารข้น เช่น หัวมันสำปะหลังที่มาจากระบบการผลิตแบบอินทรีย์ที่สหกรณ์ปลูก นอกจากนี้ ยังมีแผนการปลูกหญ้าเนเปีย หรือหญ้าพันธุ์ปากช่อง 1 และหญ้าพันธุ์รูซี่ เพื่อใช้เลี้ยงโค ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ทำสัญญากับ บมจ.ฟรีสแลนด์ คัมพิน่า(ประเทศไทย)เพื่อส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกรสมาชิกให้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น และให้คำปรึกษาด้านการจัดการฟาร์ม พร้อมรับซื้อผลผลิตน้ำนมดิบอินทรีย์ของเกษตรกรในราคาสูงกว่าน้ำนมดิบปกติทั่วไปประมาณ ร้อยละ 15 ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--