ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ยางพารา

ข่าวทั่วไป Tuesday July 31, 2012 14:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวการณ์ผลิต การตลาดและราคาภายในประเทศ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่า ผลผลิตยางพาราของเดือนกรกฎาคม 2555 จะอยู่ที่ 352,382 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.72

ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ หนึ่งในคณะนักวิจัยไทยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงความสำเร็จของโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราไทยที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมผลิต น้ำยางข้น ซึ่งผลการศึกษาเป็นดังนี้

1) ระบบการรักษาสภาพน้ำยางสดแบบใหม่ที่เรียกว่า Thai Advanced Preservative System (TAPS) ซึ่งจะผสมในน้ำยางสดร้อยละ 0.4 เท่ากันกับการใช้แอมโมเนียแต่ดีกว่าเนื่องจาก TAPS จะทำให้ น้ำยางข้นที่ได้ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ไม่มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ ประหยัดเวลาและแรงงาน ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ รวมทั้ง ไม่เกิดกากตะกอนขี้แป้งและลดปัญหาการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเมื่อนำไปให้เกษตรกรทดลองใช้จริงพบว่าได้รับความนิยมมากเพราะไม่มีกลิ่นฉุนและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ TAPS จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราว 50 สตางค์ต่อน้ำยางสด 1 กิโลกรัม

2) สารพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับตัวของยางสกิมที่เรียกว่า Green Recovering Agent for Skim and Sludge (GRASS) ได้แก่

2.1 GRASS 0 ซึ่งเป็นผงสีขาวที่นำมาใช้เตรียมเป็นสารละลายและนำไปใช้โดยผสมกับกรดซัลฟิวริก ทำให้น้ำยางสกิมจับตัวได้สมบูรณ์และมีคุณภาพสูงกว่าวิธีเดิม รวมทั้งน้ำทิ้งยังมีสารซัลเฟตปนเปื้อนน้อยลง ร้อยละ 10

2.2 GRASS 1 เป็นสารที่สามารถแทนกรดซัลฟิวริกได้ทั้งหมดและมีประสิทธิภาพสูงซึ่งส่งผลให้ยาง สกิมมีคุณภาพสูง ตลอดจนน้ำทิ้งยังสามารถนำไปผลิตก๊าซมีเทนได้มากกว่าน้ำทิ้งแบบเดิมถึง 3 เท่าและสามารถนำยางกลับมาจากน้ำยางสกิมได้มากที่สุด แก้ปัญหาน้ำยางคุณภาพไม่ดีจากปลายฤดูกรีดยางและการกักตุน แต่ GRASS 1 จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

2.3 GRASS 2 เป็นสารจับตัวน้ำล้างเครื่องปั่นน้ำยางซึ่งจะช่วยลดปริมาณสารเคมีร้อยละ 60 และทำให้ยางจับตัวกันได้รวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีจากเดิมที่ต้องใช้เวลาราว 1-2 วัน

2.4 GRASS 3 เป็นการคิดค้นที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมระดับโลก โดยนำไปใช้ในกระบวนการแยกเนื้อยางออกจากกากตะกอนหรือขี้แป้งที่ถือว่าเป็นของเสียในอุตสาหกรรมน้ำยางข้น โดย GRASS 3 จะทำให้ได้วัตถุดิบไปใช้ต่อเพื่อเป็นปุ๋ยแมกนีเซียมและทำเซรามิกได้ นอกจากนี้ ทำให้สามารถนำยางกลับมาได้และ นำสารที่เหลือไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นได้

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

1. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 88.48 บาท เพิ่มขึ้นจาก 87.59 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.89 บาท หรือร้อยละ 1.02

2. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 2 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.98 บาท เพิ่มขึ้นจาก 87.09 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.89 บาท หรือร้อยละ 1.02

3. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.48 บาท เพิ่มขึ้นจาก 86.59 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.89 บาท หรือร้อยละ 1.03

4. ยางก้อนคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.11 บาท ลดลงจาก 44.90 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.79 บาท หรือร้อยละ 1.76

5. เศษยางคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.99 บาท ลดลงจาก 39.61 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.62 บาท หรือร้อยละ 4.09

6. น้ำยางสดคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 86.72 บาท เพิ่มขึ้นจาก 83.93 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 2.79 บาท หรือร้อยละ 3.32

ในสัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคายางแผ่นดิบคุณภาพที่ 4 , ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 5 และ ยางแผ่นดิบคละ

ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนสิงหาคม 2555

ณ ท่าเรือกรุงเทพ

1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 98.60 บาท ลดลงจาก 100.30 บาท ของ สัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.70 บาทหรือร้อยละ 1.69

2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 97.45 บาท ลดลงจาก 99.15 บาท ของ สัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.70 บาทหรือร้อยละ 1.71

3. น้ำยางข้น ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.50 บาท ลดลงจาก 66.75 บาท ของสัปดาห์ที่แล้ว กิโลกรัมละ 0.25 บาท หรือร้อยละ 0.37

ณ ท่าเรือสงขลา

1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 98.35 บาท ลดลงจาก 100.05 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.70 บาท หรือร้อยละ 1.70

2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 97.20 บาท ลดลงจาก 98.90 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 1.70 บาท หรือร้อยละ 1.72

3. น้ำยางข้น ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 66.25 บาท ลดลงจาก 66.50 บาท ของสัปดาห์ที่แล้ว กิโลกรัมละ 0.25 บาท หรือร้อยละ 0.37

2. สรุปภาวการณ์ผลิตการตลาดและราคาในตลาดต่างประเทศ

อินโดนีเซียลงทุนหวังเพิ่มผลผลิตยาง

Rismansyah Danasaputra ผู้อำนวยการแผนกไม้ยืนต้นของกระทรวงเกษตรประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.65 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเตรียมที่จะลงทุน 526 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 16.53 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มผลผลิตยางพาราให้ได้ภายในสามปีซึ่งจะเริ่มจากปี 2556 เป็นต้นไป โดยจะทำการโค่นต้นยางแก่และปลูกใหม่ในเนื้อที่ปลูกยางประมาณ 3 แสนเฮกแตร์หรือ 18.75 แสนไร่ พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนปุ๋ย กล้ายางและยากำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกรฟรี

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 โดย 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 31.4173 บาท

ราคาต่างประเทศซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนสิงหาคม 2555

ยางแผ่นรมควันชั้น 3

ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดสิงคโปร์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 297.60 เซนต์สหรัฐฯ (94.33 บาท) ลดลงจาก 310.33 เซนต์สหรัฐฯ (98.15 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 12.73 เซนต์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 4.10

ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดโตเกียว เฉลี่ยกิโลกรัมละ 218.30 เยน (88.46 บาท) ลดลงจาก 237.57 เยน (95.36 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 19.27 เยน หรือร้อยละ 8.11

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ