สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรไทยจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนในช่วงมกราคม — พฤษภาคม 55 ชู ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศอาเซียน กว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7เผย สินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มน้ำตาล และขนมที่ทำจากน้ำตาล กลุ่มยางธรรมชาติ กลุ่มข้าวและธัญญพืช
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตาม และประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่มีต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง (หลังเปิดเสรี AFTA ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา) เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AFTA ให้มากที่สุด
ซึ่งจากการติดตามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 (มกราคม - พฤษภาคม) พบว่า ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตร (พิกัด 01 - 24 และยางพารา) กับประเทศอาเซียนจำนวน 90,851 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 7 โดยไทยมีการส่งออกสูงถึง 123,448 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 32,597 ล้านบาท
สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มน้ำตาล และขนมที่ทำจากน้ำตาล กลุ่มยางธรรมชาติ กลุ่มข้าว และธัญญพืช รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู ส่วนสินค้าที่ส่งออกที่มีการขยายตัวการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ สตาร์ชจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเหนียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้ามากในลำดับต้นๆ ได้แก่ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารกที่แพ้นม ปลาและสัตว์น้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปส่งออก เช่น ปลาทูนาและแม๊คเคอเรล และพืชผักเพื่อบริโภค เป็นต้น
เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสินค้าโควตาภาษี (TRQ) ที่ไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศอาเซียน กล่าวคือ เป็นสินค้าที่มีการส่งออกลดลงแต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา นมผงขาดมันเนย เนื้อมะพร้าวแห้ง และ ไหมดิบ จะต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--