ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรกขยายตัว 2.9 ลุ้นจับตาทิศทางผลผลิตและเศรษฐกิจโลกปี 55

ข่าวทั่วไป Thursday August 9, 2012 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2555 ระบุ ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เผย ทุกสาขาขยายตัว ยกเว้นสาขาประมง โดยเฉพาะสาขาพืช ขยายตัวค่อนข้างมากเนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างเป็นปกติ คาดแนวโน้มตลอดปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 - 4.8 เนื่องจากผลผลิตหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเตือนเฝ้าระวังภัยธรรมชาติ และปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2555 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างเป็นปกติ แม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเกิดขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศ แต่ในภาพรวมแล้ว ไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนัก นอกจากนี้ การดำเนินการของรัฐบาล เช่นการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และ โครงการลดต้นทุนการผลิต ยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรอีกด้วย สำหรับด้านการส่งออก ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าว และยางพารา เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป รวมทั้งราคาส่งออกที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน ทำให้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า ทุกสาขาขยายตัว ยกเว้นสาขาประมง โดย

สาขาพืช ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย เงาะ เป็นต้น ผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน มังคุด และสับปะรด ซึ่งผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก ภายหลังน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 คลี่คลายลง ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตดี รวมทั้งการระบาดของเพลี้ยแป้งมีน้อย ส่วนผลผลิตผลไม้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการออกดอกและติดผล สำหรับสถานการณ์ด้านราคา พบว่า มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก และความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง

สาขาปศุสัตว์ การผลิตสาขาปศุสัตว์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยสินค้าปศุสัตว์สำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ การผลิตสุกรมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้สุกรเจริญเติบโตได้ดีมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไก่เนื้อมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้านการผลิตไข่ไก่มีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลสืบเนื่องจากการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้อย่างเสรีตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีจำนวนไก่ไข่ที่ให้ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา อย่างไรก็ตาม ราคาปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีทิศทางลดลง ยกเว้นน้ำนมดิบ

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น หลังจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งแรงจูงใจทางด้านราคา ทำให้มีกิจกรรมเตรียมดินเพาะปลูก โดยใช้บริการจากรถแทรกเตอร์ รวมทั้งการใช้บริการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากรถเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ด้าน สาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.5 เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากป่าที่สำคัญหลายชนิดมีปริมาณเพิ่ม เช่น น้ำผึ้ง ไม้ไผ่ ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำผึ้ง ที่สร้างมูลค่าและแปรรูปได้หลากหลาย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก อีกทั้งอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ในไทยขยายตัวขึ้น ทำให้มีการทำไม้ออกจากป่าปลูกเพิ่ม อย่างไรก็ตาม พบว่า สาขาประมงหดตัวร้อยละ 1.6 โดยผลผลิตกุ้งทะเลที่ได้จากการเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้เกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งส่วนหนึ่งออกขาย ส่งผลให้กุ้งส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาเรื่องโรคขี้ขาว (White Stool Disease) ทำให้ผลผลิตที่ได้น้อยกว่าปกติ ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดที่สำคัญ คือ ปลานิล ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2555 คาดว่า เศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.8 - 4.8 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความแปรปรวนมากขึ้น อาทิ ภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย โรคระบาด และศัตรูพืช นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกก็มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ชัดเจน และอาจมีการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงปลายปีนี้ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งพิงการส่งออกหรือการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ต้องพึ่งพิงการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากปัญหาดังกล่าวลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลให้ภาคการส่งออกโดยรวม รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้หดตัวตามไปด้วย

สำหรับแนวโน้มแต่ละสาขา คาดว่า สาขาพืช จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.6 — 5.6 เนื่องจากผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะการผลิตข้าว เนื่องจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล ทำให้ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น สำหรับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่ปลูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตต่อไร่ในอัตราสูงขึ้น ส่วนผลผลิต อ้อยโรงงาน คาดว่าจะลดลงจากปี 2554 เล็กน้อย เนื่องจากการเลื่อนเปิดหีบอ้อยให้เร็วขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ทำให้เกษตรกรเร่งตัดอ้อยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 สำหรับราคาพืชที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าว และอ้อยโรงงาน ขณะที่มันสำปะหลัง และยางพารา ราคามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอุปสงค์จากตลาดโลกลดลง ส่วน สาขาปศุสัตว์ มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 เนื่องจากการบริหารจัดการด้านการผลิตที่ดี เกษตรกรมีการปรับระบบการเลี้ยง ปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม รวมทั้งการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่กลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ประกอบกับการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ซึ่งจะมีผลให้ส่งออกไปสหภาพยุโรปได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2555 ทำให้ผู้เลี้ยงไก่เนื้อบางส่วนขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับการส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สาขาประมง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 โดยขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) — 0.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด อีกทั้งหากสภาพอากาศไม่แปรปรวนเหมือนปีที่ผ่านมาคาดว่าผลผลิตประมงทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับประมงน้ำจืด หากสถานการณ์เป็นปกติคาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำจืดในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นตามการสนับสนุนส่งเสริมของกรมประมง ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกข้าว และอ้อยโรงงานจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและราคาที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการจ้างบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้น อาทิ ไถพรวนดิน การเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยรถเกี่ยวนวดข้าวและรถตัดอ้อย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการให้บริการอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้มูลค่าการผลิตสาขาบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 — 2.4 และ สาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.6 - 2.6 เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากป่า อาทิ น้ำผึ้ง ไม้ไผ่ ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศในช่วงครึ่งปีหลังเป็นปกติ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

           สาขา             ครึ่งปีแรก         ทั้งปี 2555
           ภาคเกษตร           2.9           3.8 — 4.8
           พืช                 4.1           4.6 — 5.6
           ปศุสัตว์              2.1           3.5 — 4.5
           ประมง             -1.6        (-0.2) — 0.8
           บริการทางการเกษตร   2.2           1.4 — 2.4
           ป่าไม้               2.5           1.6 — 2.6

ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หน่วย: ร้อยละ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ