แนะพัฒนาศักยภาพธุรกิจปลาสวยงาม ชูทางเลือกใหม่ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Tuesday August 21, 2012 13:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดผลการศึกษาธุรกิจปลาสวยงามของไทย เผย กลุ่มปลาสวยงาม 3 ชนิด ได้แก่ ปลากัด ปลาทอง และ ปลาหางนกยูง มีการพัฒนาโดยภูมิปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และส่งออกอยู่ในอันดับต้นๆ แนะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและปรับปรุงพันธุ์ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อ เพื่อขยายตลาดก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดโลก

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ธุรกิจปลาสวยงามนับเป็นธุรกิจหนึ่งที่เกิดจากฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลายของประเทศไทย จึงมีความพร้อมทางด้านศักยภาพการเพาะเลี้ยง ซึ่งความนิยมเลี้ยงปลาสวยงามในประเทศไทยปัจจุบันขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นสินค้าหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการส่งออกของไทย มีการขยายตัวทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น และจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า กลุ่มปลาสวยงามอย่างปลากัด ปลาทอง และ ปลาหางนกยูง มีการส่งออกอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งปลาทั้ง 3 ชนิดเป็นปลาที่มีการเลี้ยงและพัฒนาโดยภูมิปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ด้านผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของปลากัดสวยงาม พบว่า ผลผลิตรวมของปลากัดเฉลี่ย 108,360 ตัวต่อไร่ต่อปี ต้นทุนทั้งหมดตัวละ 2.78 บาท ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตัวละ 3.16 บาท กำไรสุทธิตัวละ 0.38 บาท ส่วนต้นทุนและผลตอบแทนของปลาทอง พบว่า ผลผลิตรวมของปลาทองเฉลี่ย 62,689 ตัวต่อไร่ต่อปี ต้นทุนทั้งหมดตัวละ 2.92 บาท ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตัวละ 18.15 บาท กำไรสุทธิตัวละ 15.23 บาท ด้านต้นทุนและผลตอบแทนของปลาหางนกยูง พบว่า ผลผลิตรวมของปลาหางนกยูงเฉลี่ย 484,248 ตัวต่อไร่ต่อปี ต้นทุนทั้งหมดตัวละ 0.59 บาท ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยตัวละ 1.45 บาท กำไรสุทธิตัวละ 0.86 บาท

สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายใน (SWOT Analysis) ของปลาสวยงาม จากการศึกษาพบว่า ปลากัด ปลาทอง และปลาหางนกยูง ยังมีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากปลาแต่ละชนิดมีจุดแข็ง คือ ปลากัดเป็นปลาที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยและเป็นที่รู้จักของตลาดโลก ผู้เพาะเลี้ยงมีความสามารถและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงสูง สำหรับปลาทองไทยเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์ปลาทองพันธุ์สิงห์ดำตามิด ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการ ทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกได้มากขึ้น ส่วนปลาหางนกยูงเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย โดยปลาทั้งสามชนิดจะมีจุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคคล้ายกัน คือ ผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่เข้ามาทำการผลิตได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการเพาะเลี้ยงสูง ขาดการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ ขาดการรวมกลุ่มของเกษตรกร ขาดความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทำให้ขาดโอกาสในการเจรจาทางการค้า รวมทั้งมีการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้ในการค้าระหว่างประเทศ โดยในส่วนโอกาสการขยายตัวของความต้องการปลาสวยงามในตลาดโลกยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจในการพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มปลาสวยงามอย่างปลากัด ปลาทอง และ ปลาหางนกยูง แม้ไทยจะมีการส่งออกอยู่ในอันดับต้นๆ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ การดำเนินการจึงเป็นลักษณะปัจเจกบุคคลหรือต่างคนต่างทำ รวมทั้งเกษตรกรยังขาดการรวมกลุ่มให้เป็นสถาบันเกษตรกร โดยเกษตรกรบางรายยังขาดการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน ซึ่งการส่งออกปัจจุบันนั้น ประเทศผู้ซื้อมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรมีการกำหนดแนวทางกลยุทธ์ ทั้งด้านด้านการผลิต การพัฒนาระบบการเลี้ยงปลาสวยงามให้ได้มาตรฐาน มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและปรับปรุงพันธุ์ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ของฟาร์มเพาะเลี้ยงอย่างเข้มงวด ด้านการตลาด ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาปลาสวยงาม เพิ่มตลาดใหม่เพื่อขยายการเจริญเติบโตด้านการตลาดในประเทศมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ