1. สรุปภาวการณ์ผลิต การตลาดและราคาภายในประเทศ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยว่า จากการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการฯ ทำให้ทราบอุปสรรคต่าง ๆ หลายประการด้วยกัน คือ (1) จุดรับซื้อยางพารายังไม่ครอบคลุม จึงได้มีการขยายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิม 31 แห่ง เป็น 42 แห่ง แบ่งเป็นภาคใต้ 23 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่งและภาคตะวันออก 7 แห่ง พร้อมกันนี้ มอบหมายให้องค์การสวนยาง(อสย.) ตั้งจุดรับซื้อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดยะลาเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมาก (2) การที่สถาบันเกษตรกรบางแห่งมีการนำยางที่ไม่ใช่ของสมาชิกมาสวมสิทธิ์แล้วคิดค่าบริหารจัดการเพื่อหากำไรจากโครงการ จึงได้แก้ปัญหาโดยการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบว่ามีการสวมสิทธิ์จริงให้ส่งข้อมูลไปยังคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับจังหวัดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ (3) งบประมาณที่ใช้ในโครงการฯ จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะมีการเสนอขออนุมัติวงเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่อสย.เพื่อใช้เป็นทุนสำรองในการรับซื้อผลผลิตจากสถาบันเกษตรกรที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และ (4) การขยายหลักเกณฑ์คุณสมบัติของสถาบันเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการฯ ให้ครอบคลุมถึงสถาบันที่ไม่เป็นนิติบุคคลจึงคาดการณ์ว่าจะมีการนำผลผลิตยางมาขายให้กับอสย. เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 21 สิงหาคม 2555
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
1. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 75.65 บาท ลดลงจาก 84.09 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 8.44 บาท หรือร้อยละ 10.04
2. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 2 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 75.15 บาท ลดลงจาก 83.59 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 8.44 บาท หรือร้อยละ 10.10
3. ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 74.65 บาท ลดลงจาก 83.09 บาท ของสัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 8.44 บาท หรือร้อยละ 10.16
4. ยางก้อนคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.75 บาท ลดลงจาก 42.22 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 6.47 บาท หรือร้อยละ 15.32
5. เศษยางคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 31.86 บาท ลดลงจาก 37.31 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 5.45 บาท หรือร้อยละ 14.61
6. น้ำยางสดคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 72.69 บาท ลดลงจาก 81.83 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 9.14 บาท หรือร้อยละ 11.17
ในสัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคายางแผ่นดิบคุณภาพที่ 4, ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 5 และยางแผ่นดิบคละ
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนกันยายน 2555
ณ ท่าเรือกรุงเทพ
1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 88.15 บาท ลดลงจาก 92.51 บาท ของ สัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 4.36 บาท หรือร้อยละ 4.71
2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.00 บาท ลดลงจาก 91.36 บาท ของ สัปดาห์ ที่แล้วกิโลกรัมละ 4.36 บาท หรือร้อยละ 4.77
3. น้ำยางข้น ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.78 บาท ลดลงจาก 62.53 บาท ของสัปดาห์ที่แล้ว กิโลกรัมละ 2.75 บาท หรือร้อยละ 4.40
ณ ท่าเรือสงขลา
1. ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 87.90 บาท ลดลงจาก 92.26 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 4.36 บาท หรือร้อยละ 4.73
2. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 86.75 บาท ลดลงจาก 91.11 บาท ของสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 4.36 บาท หรือร้อยละ 4.79
3. น้ำยางข้น ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.53 บาท ลดลงจาก 62.28 บาท ของสัปดาห์ที่แล้ว กิโลกรัมละ 2.75 บาท หรือร้อยละ 4.42
2. สรุปภาวการณ์ผลิตการตลาดและราคาในตลาดต่างประเทศ
ความต้องการใช้ยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีหน้า
องค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (The international Rubber Study Group: IRSG) คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ยางโลกทั้งยางธรรมชาติ (Natural Rubber: NR) และยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber: SR) ปี 2555 จะอยู่ที่ 26.6 ล้านตันลดลงจากการประมาณการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 26.8 ล้านตันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2556 ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ยางจะอยู่ที่ 27.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจาก IRSG คาดว่า ความต้องการใช้ยางของจีนจะเพิ่มขึ้น โดยปี 2555 จะอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.3 ล้านตันของปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6ในปี 2556 เป็น 9.1 ล้านตัน
ราคาต่างประเทศซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนกันยายน 2555
ยางแผ่นรมควันชั้น 3
ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดสิงคโปร์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 263.30 เซนต์สหรัฐฯ (82.60 บาท) ลดลงจาก 281.65 เซนต์สหรัฐฯ (88.34 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 18.35 เซนต์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 6.52
ราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดโตเกียว เฉลี่ยกิโลกรัมละ 200.50 เยน (79.66 บาท) ลดลงจาก 213.83 เยน (85.39 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 13.33 เยน หรือร้อยละ 6.23
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 สิงหาคม 2555--