ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยถึงการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ข้าวในปีนี้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยตัวเลขการส่งออกอยู่ประมาณ 6.5 ล้านตันในขณะที่ตลาดส่งออกหลักจะอยู่ที่ประเทศ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย และอิรักตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการชะลอตัวการสั่งข้าวจากไทยลดลงจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เมื่อพิจารณาทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาพบว่าข้าวไทยมีราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์คือราคาเฉลี่ย 671 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกอาทิ ปริมาณสต็อกข้าวของอินเดียที่มีปริมาณอยู่เป็นจำนวนมากเพียงพอต่อการส่งออกทั้งปี ความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง(อินโดนีเซีย และฟิลิปินส์) เวียดนามลดราคาข้าวเพื่อแข่งขันกับอินเดียที่ค่าเงินอ่อนค่าทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกยิ่งตกต่ำประกอบกับปากีสถานขยายปริมาณการส่งออกข้าวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่เป็นบวกต่อสถานการณ์ข้าวไทยคือ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ขณะที่ความต้องการข้าวจีนที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสภาพภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ทั้งที่อินเดียและสหรัฐอเมริกา
สำหรับผลการประมาณการด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างปี 2540 — 2553 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ปริมาณการผลิตข้าวภายในประเทศ กับตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ พบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาขายข้าวภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว การเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออกข้าว หรือการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานที่ทำนา แสดงให้เห็นผลที่ไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้มีการขยายตัวของผลผลิตข้าว แต่จากการจำลองสถานการณ์ทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่า การเข้าแทรกแซงตลาดโดยการเพิ่มระดับราคาขายข้าวให้สูงขึ้น เป็นเพียงกรณีเดียวที่จะทำให้เกิดการบิดเบือนของกลไกราคา ซึ่งในกรณีนี้จะมีผลเสียก็คือการเกิดต้นทุนทางสังคม (dead weight loss) ขึ้น ดังนั้น กรณีที่กำหนดราคาข้าวจึงจำเป็นต้องมีการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลได้ในส่วนของการขยายตัวของการผลิตข้าว และผลเสียจากการบิดเบือนตลาดประกอบกัน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--