1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
กรมประมงฟื้นฟูทรัพยากรประมงอย่างต่อเนื่อง
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะทะเลสาบสงขลาเป็นอีกท้องถิ่นหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคมและสภาพแวดล้อม ในอดีตทะเลสาบสงขลามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านบริเวณนั้นมีอาชีพทำการเกษตรและประมง เพื่อการดำรงชีพเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความเจริญในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทของวิถีความเป็นอยู่ทุกชุมชน ทำให้สังคมทะเลสาบมีการแข่งขันกันมากขึ้น ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง ทำให้สัตว์น้ำลดลงเป็นจำนวนมาก กรมประมงจึงจัดกิจกรรมฟาร์มทะเลหรือฟาร์มสัตว์น้ำ โดยชุมชนภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในทะเลสาบสงขลามาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นเพื่อกำหนดเขตอนุรักษ์ของชุมชน และเพื่อเป็นแหล่งอนุบาล สัตว์น้ำวัยอ่อน และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงรอบๆ ทะเลสาบ โดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงแต่ละปี แห่งละ 3 ล้านตัว รวมทั้งมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติให้มีเพิ่มมากขึ้น การจัดอบรมกลุ่มประมงอาสาเพื่อช่วยดูแลสัตว์น้ำที่ปล่อยไป และร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำที่โตไม่ได้ขนาด นอกจากนี้ กรมประมงได้สนับสนุนด้านวิชาการในการลงพื้นที่ อบรมให้ประชาชนหรืออาสาสมัคร เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ การดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างความรู้เรื่องการตลาด ให้มีการค้าขายแก่ชาวประมงอย่างแท้จริง ซึ่งกิจกรรมฟาร์มทะเลหรือฟาร์มสัตว์น้ำ โดยชมรมดำเนินการในบริเวณพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาทั้ง 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช (มีเป้าหมาย 14 แห่ง) และจากการสำรวจล่าสุด พบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2547 ถึงปัจจุบัน มีฟาร์มทะเลทั้งสิ้น 154 แห่ง ใน 3 จังหวัด นับว่าเป็นผลตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากฟาร์มทะเลหรือฟาร์มสัตว์น้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้แท้จริงสามารถเลือกเครื่องมือประจำ เช่น ไซนั่งได้บางส่วน และการตลาดสามารถลดพ่อค้าคนกลางได้ผล รวมทั้งชุมชนยังสร้างให้ประชาชนรอบทะเลสาบมีสำนักรักทรัพยากรสัตว์น้ำมากขึ้น
อย่างไรก็ตามได้มีการประเมินผลโดยเฉลี่ยของชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลาพบว่า ฟาร์มทะเลชุมชนมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนในระดับสูง และจากการสำรวจผลการจับสัตว์น้ำ โดยสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งยังพบว่า การจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 11,800 ตัน สูงกว่าปี 2538 ที่จับได้ 9,100 ตัน ชาวประมงมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000 — 20,000 บาทต่อเดือน ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการยอมรับโครงการนี้ นอกจากผลที่ได้รับที่กล่าวมาแล้ว ยังทำให้ชุมชนไม่ต้องออกไปประกอบอาชีพไกลบ้าน รักถิ่นบ้านเกิด กิจกรรมต่างๆ ของโครงการนี้ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจับและเพิ่มมูลค่าแล้ว การปลูกจิตสำนึกและการเสริมสร้างความรักความผูกพันในทะเลสาบสงขลาจะทำให้ชุมชนมีการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 - 17 มิ.ย. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 951.84 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 383.45 ตัน สัตว์น้ำจืด 568.39 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.57 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.45 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 68.07 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 1.75 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 44.83 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.90 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.74 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.16 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 85.58 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 85.98 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.40 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 128.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 123.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 5.57 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 141.62 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 138.33 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.29 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 145.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 143.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.67 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.38 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.53 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 13.15 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 83.57 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 80.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.07 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 89.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 89.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.50 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 182.86 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 181.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.86 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.85 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.55 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.30 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 18 - 24 ส.ค. 2555) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.14 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 25.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.64 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 สิงหาคม 2555--