เดินหน้าร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ฯ ภาคเกษตร พร้อมก้าวสู่การแข่งขันในประชาคมอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday September 14, 2012 13:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก.เปิดเวทีใหญ่ระดมความเห็น ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2556 — 2559 มุ่งปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ภาคเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่โซ่อุปทานในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2556 — 2559 ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์การเกษตร ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2556 — 2559 พร้อมทั้งจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรและข้อคิดเห็นที่มีต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2554 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต 2) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งและโลจิสติกส์ 3) การพัฒนาธุรกิจ โลจิสติกส์ 4) การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และ 5) การพัฒนากำลังคนและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ โลจิสติกส์ในภาคการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตร ยังเป็นภาคการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นแหล่งนำเข้าเงินตราจากต่างประเทศ โดยไทยเป็นส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก และภาคเกษตรยังเป็นภาคการผลิตเดียวที่มีดุลการค้าเกินดุลมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรกลับพบว่า ยังคงมีความยากจนและมีหนี้สิน ซึ่งจำเป็นต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัญหาสำคัญเกิดจากการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมทั้งเกษตรกรยังคงใช้วิธีการปฏิบัติในการจัดการผลิตรูปแบบเดิม ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนต้องสูญเสีย ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ก่อนถึงมือผู้บริโภค รวมทั้งยังทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงเกินความจำเป็น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าที่มิใช่มาตรการด้านภาษี เช่น มาตรการด้านอาหารปลอดภัย เป็นต้น

ดังนั้น การปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์และระบบห่วงโซ่อุปทานจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สินค้าเกษตรมีต้นทุนต่ำ เพราะสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและลดขั้นตอนและระยะเวลาในการส่งสินค้า ซึ่งจะมีผลทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจและการค้าของโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ความสะดวกด้านคมนาคมขนส่ง ความตื่นตัวด้านอาหารปลอดภัย ส่งผลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้งการที่ประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ในปี 2558 นี้ การเตรียมความพร้อมในด้านโลจิสติกส์นี้นับเป็นข้อตกลงผูกพันประการหนึ่ง ที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการ ซึ่งหากภาคเกษตรไทยสามารถวางแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรให้มีความพร้อมหรือความเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่ม AC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกษตรกรไทยจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โลจิสติกส์ภาคเกษตรเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่โซ่อุปทาน ในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ