สศข.6 นำทัพ เปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์การเกษตรภาคกลางตอนกลาง ปี 2557 — 2560

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2012 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข. 6 ร่วมบูรณาการเชิงลึกในระดับพื้นที่กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ 5 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว)เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ปี 2557 — 2560 ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ สู่การจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางต่อไป

นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดสัมมนายุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ปี 2557 — 2560 ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 เป็นเจ้าภาพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ปี 2557 — 2560 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 53/1 และ 53/2 ที่กำหนดให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัด ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สภาเกษตรกร กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร และเกษตรกร เข้าร่วมประมาณ 250 คน

การจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว นับเป็นการทำงานบูรณาการอย่างเชิงลึกในระดับพื้นที่มีรูปแบบการดำเนินการจัดทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 จังหวัด

สำหรับการประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ คณะจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ได้นำเสนอรายละเอียดตั้งแต่ขั้นตอน วิธีการจัดทำ จนถึงกิจกรรม และเป้าหมายในอีก 4 ปีข้างหน้าของยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกลุ่มจังหวัดในแต่ละด้าน ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การส่งเสริมการรวมกลุ่ม และการเตรียมพร้อมภาคเกษตรในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยนำข้อเสนอแนะมาสรุปเติมเต็มรายละเอียดของยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ปี 2557 — 2560 จากตัวแทนของผู้ที่มีส่วนได้ — ส่วนเสียในภาคเกษตรให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งบรรยากาศการระดมความคิดเห็นได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างมากเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน เช่น การดำเนินการจัดทำ Zoning ของสินค้าเกษตรในระดับพื้นที่ การผลักดันให้เกิดกลุ่มองค์กร สถาบันเกษตรกรเพื่อเป็นกลไกในการต่อรองด้านการตลาด การพัฒนาตลาดรองรับการผลิตสินค้าปลอดภัย GAP อย่างจริงจัง และส่งเสริมให้ความรู้กฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อทำการค้าขายและไปลงทุน รณรงค์ให้เกษตรกรผลิตสินค้ามีคุณภาพ ทั้งนี้ จากข้อเสนอดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางต่อไป นายพลเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ