สศก. ชูผลการประเมินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2551-2554) ระบุมารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในรูปแบบที่เกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผย การค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยังเจ๋ง สามารถแข่งขันได้ดี และมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551-2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งพบว่า เกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ มีอัตราการเจ็บป่วยจากการลดใช้สารเคมีลงเหลือร้อยละ 4 จากเดิมที่มีการเจ็บป่วยถึงร้อยละ 25 ซึ่งช่วยลดรายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลได้เฉลี่ยปีละ 5,550 บาท โดยเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการลดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีได้เฉลี่ยไร่ละ 558 บาท พร้อมทั้งสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดินลงได้ ร้อยละ 60 ของเกษตรกรที่เลิกใช้สารเคมี อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดินของเกษตรกรยังดำเนินการได้ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากในช่วงระยะปรับเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้เวลา และเอาใจใส่ในการดูแลมาก ในระยะแรกซึ่งเกษตรกรทำได้จำกัดตามแรงงานสมาชิกในครัวเรือน
สำหรับการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย พบว่า ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทย สามารถแข่งขันได้ดี และมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2551 มีปริมาณการส่งออก 3,663 ตัน จนถึงปี 2554 มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 5,967 ตัน คิดเป็นอัตราการเติบโต (growth rate) ประมาณร้อยละ 18 ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องในระยะต่อไป จะสามารถยกระดับให้เกษตรกรกลุ่มนี้พัฒนาการผลิตได้ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยควรมีการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของการบริโภคสินค้าปลอดภัย เพื่อสามารถขยายตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นด้วย รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--