สศก.ร่วมประชุม CFS เดินหน้ากรอบยุทธศาสตร์ สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก

ข่าวทั่วไป Thursday October 25, 2012 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ร่วมประชุมประจำปีคณะกรรมการอาหารโลกครั้งที่ 39 กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ร่วมกำหนดกรอบนโยบาย ผลักดันให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับโลก โดยไทยสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารภายในประเทศควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2556 — 2559 ได้

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยภายหลัง เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาหารโลกครั้งที่ 39 (39th Session of Committee on World Food Security: CFS) ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะผลักดันให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับโลก มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยประเทศสมาชิก CFS จากทั่วโลกจำนวน 112 ประเทศ องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน และ ผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหารจาก 23 ประเทศเข้าร่วมประชุมในระดับรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกด้วย โดยผู้แทนไทยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนกลุ่มเอเชียเข้าร่วมในคณะกรรมการยกร่างรายงานผลการประชุม

          การประชุมดังกล่าว ได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงอาหาร 2 ประเด็น คือ 1) ประเด็นการป้องกันทางสังคมเพื่อความมั่นคงอาหาร (Social Protection for Food Security)  ซึ่งคณะกรรมการได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก และองค์กรระหว่างประเทศนำระบบ Social Protection System มาใช้ หรือปรับปรุงระบบที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงอาหาร โดยเสนอให้ดำเนินการทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กันไป (The twin track approach) และ        2) ประเด็นความมั่นคงอาหารกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Food Security and Climate Change) ซึ่งคณะกรรมการฯ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก องค์กรระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ของ CFS ร่วมกันดำเนินการเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว โดยขอให้ประเทศสมาชิกกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ และการดำเนินการต่าง ๆ ในระดับประเทศ

ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงการคำนวณตัวเลขจำนวนผู้ขาดสารอาหาร ที่เผยแพร่ในเอกสาร The State of Food Insecurity in The World หรือ SOFI 2012 โดย FAO ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณ ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ขาดสารอาหารของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการบรรลุเป้าหมาย Millennium Development Goal (MDG) ในการลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหยให้เหลือครึ่งหนึ่งภายใน ปี 2015 ซึ่งในส่วนของไทย ตัวเลขผู้ขาดสารอาหารปี 2553-2555 ลดลงเหลือร้อยละ 7.3 คิดเป็นประชากรจำนวน 5 ล้านคน (ลดลงจากตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่ใน SOFI 2011 ที่มีจำนวนผู้ขาดสารอาหารร้อยละ 16 คิดเป็นประชากร 10.6 ล้านคน)

เลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของ CFS ในประเด็นต่างๆ ทั้งการรับรองกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลก ฉบับแรก (Global Strategic Framework for Food Security and Nutrition :GSF First Version) โดยไม่มีข้อผูกพันทางการกฎหมาย และการกำหนดประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงอาหาร เพื่อให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ CFS (High Level Panel Expert: HLPE) ศึกษารายละเอียดและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับสมาชิก CFS รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดทำร่าง RAI ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติรับรอง Term of Reference (TOR) ในการจัดทำร่าง RAI โดยฝ่ายเลขานุการของ CFS ร่วมกับ Open Ended Working Group และ CFS Bureau จะดำเนินการยกร่างรายละเอียด RAI และหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และนำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุม CFS ในปี 2557 ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว แสดงถึงความคืบหน้าในการดำเนินการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการของโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาพิจารณาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารภายในประเทศควบคู่กับยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2556 - 2559 รวมทั้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการยกร่างรายละเอียดของหลักการลงทุนภาคการเกษตรอย่างรับผิดชอบ หรือ Responsible Agriculture Investment: RAI ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติในการลงทุนภาคการเกษตรทั้งการลงทุนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ