สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชูกาแฟดอยช้างเจ๋ง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวส่งผลเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูป ได้ถึงปีละเกือบ 3พันล้านบาท เผย ปี 2555ดอยช้างสามารถผลิตกาแฟดิบได้ 3,500 ตัน ด้านภาครัฐ และเอกชน พร้อมจับมือหนุนขยายพื้นที่ปลูก คาด 3 - 5 ปีข้างหน้า จะสามารถทำรายได้เข้าดอยช้างได้ถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตกาแฟพันธุ์อราบิกาในภาคเหนือของไทย ซึ่งพบว่า มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่ดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยนิยมปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลที่ 1,300 - 1,700 เมตร ภูมิอากาศมีลักษณะหนาวเย็นเหมาะกับกาแฟพันธุ์อราบิกา ส่วนสายพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ สายพันธุ์แคทรูรา (Caturra) และ ทิปิกา (Typica )
สำหรับดอยช้างมีเนื้อที่ปลูกกาแฟประมาณ 30,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70 ของเนื้อที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟสด (ผลเชอร์รี่) ขายให้แก่โรงงานแปรรูปในดอยช้าง ที่ราคากิโลกรัมละ 20 - 30 บาท โดยโรงงานจะนำผลเชอร์รี่มาสีและหมักระยะหนึ่งจึงได้เป็นเมล็ดกาแฟดิบ หรือที่เรียกว่าสารกาแฟ ซึ่งราคาเมล็ดกาแฟดิบ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 - 200 บาท และจากการสำรวจในปี 2555 ดอยช้างสามารถผลิตกาแฟดิบได้ทั้งหมด 3,500 ตัน ให้ผลผลิตต่อไร่ 350 กิโลกรัม โดยช่วงเก็บเกี่ยวจะอยู่ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งผลผลิตกาแฟในดอยช้างทั้งหมดจะขายให้กับโรงงานแปรรูปในแหล่งผลิต และส่วนใหญ่นำไปแปรรูปเป็นกาแฟคั่วบด
รองเลขาธิการกล่าวต่อไปว่า กาแฟดอยช้าง นับว่าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยทำชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งในเรื่องคุณภาพ กลิ่นและรสชาติที่ดีเยี่ยม มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประเทศที่นำเข้ากาแฟจากดอยช้าง เช่น แคนาดา สิงคโปร์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และ เกาหลีใต้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร และ ผู้ประกอบการแปรรูป ได้ถึงปีละ 2,000 - 3,000 ล้านบาท ทำให้กาแฟของดอยช้างผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าแหล่งผลิตอื่น โดยเมล็ดกาแฟคั่วนั้น สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 1,600 บาท ทั้งนี้ จากความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ปัจจุบันทั้งภาครัฐ และเอกชนได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกกาแฟอราบิกาเพิ่มขึ้น และคาดว่าใน 3 - 5 ปี ข้างหน้า กาแฟจะให้ผลผลิตได้เต็มที่ และสามารถทำรายได้เข้าดอยช้างปีละ 10,000 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--