สุราษฎร์ธานี นำร่องโครงการที่ดินสาธารณประโยชน์ ช่วยผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 30, 2012 13:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ลงพื้นที่ประเมินโครงการบริหารจัดการที่ดินสาธารณประโยชน์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสุราษฎร์านี เผย ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมมีความพึงพอใจในระดับมาก หันปรับพฤติกรรมการออมได้ดีขึ้น แนะ ต่อยอดองค์ความรู้ รวมกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประเมินโครงการบริหารจัดการที่ดินสาธารณประโยชน์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดสุราษฎร์านีว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องโดยใช้งบประมาณของจังหวัด ซึ่งใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 368 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวา ทำการจัดสรรให้กับราษฎรที่เดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รายละ 2 ไร่ โดยมอบหมายให้ สศข.8 ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นอยู่ของครัวเรือน สำรวจความคิดเห็น และประเมินผลการฝึกอบรมการเตรียมความพร้อมการเป็นเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก่อนที่จะเข้าไปทำกินในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้กำหนดแผนและกิจกรรมการพัฒนาในการปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไป ให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนในพื้นที่เป้าหมายโครงการฯ

ในการนี้ สศข.8 ได้ลงพื้นที่สำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 119 ราย (ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม — 16 กันยายน 2555) ซึ่งเป็นผู้ยากจนไม่มีที่ทำกินและที่อาศัยของตนเอง พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จบการศึกษาระดับประถมศึกษา มีอาชีพหลัก คือ รับจ้างทางการเกษตร จำนวนสมาชิกทั้งหมดในครัวเรือนโดยเฉลี่ย 4 คน/ครัวเรือน (เป็นสมาชิกที่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว จำนวน 2 คน และเป็นสมาชิกที่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว จำนวน 2 คน) โดยในปีเพาะปลูก 2554/55 ก่อนเข้าไปทำกินในพื้นที่จัดสรรของโครงการฯ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้ประมาณ 30,406 บาท/ครัวเรือน โดยร้อยละ 67 ของครัวเรือนทั้งหมดมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 75,319 บาท/ครัวเรือน ส่วนแหล่งกู้ยืมที่สำคัญคือ กองทุนหมู่บ้าน เพื่อนบ้าน/ญาติ/พี่น้อง

ด้านผลประเมินการฝึกอบรม หลักสูตร“การเตรียมความพร้อมการเป็นเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นหลักสูตรผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคนจะต้องผ่านการอบรม พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่ พึงพอใจกับการอบรมในระดับมาก และได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังการอบรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการออม อย่างไรก็ตาม พบว่า เมื่อได้มีการเข้าไปทำกินในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ในระยะแรกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเดิมควบคู่ไปกับการใช้ที่ดินที่ได้รับการจัดสรร มาสร้างที่อยู่อาศัย หรือทำการเกษตรเสริมรายได้ไปด้วย

สำหรับการดำเนินงานในช่วงต่อไปนั้น ควรมีการจัดการประกวดแปลงเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่โครงการฯ ทั้งในระดับโซน และระดับพื้นที่โครงการฯ และมีการมอบรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจอันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาแปลงเกษตร ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ควรมีการให้คำแนะนำและจัดระบบพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการตลาด ช่องทางการขายผลผลิต และการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีเงินทุนหมุนเวียน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการฯ ตลอดจนเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำอุปโภค-บริโภค และ ถนน เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ควรเน้นการสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว นายสมพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ