1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ประมงเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ดันไทยศูนย์กลางปลาสวยงาม
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจปลาสวยงาม ให้มีการขยายตัวและเพิ่มมาตรฐานความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความมั่นคง โดยใช้ยุทธศาสตร์ ปลาสวยงาม(พ.ศ. 2556 — 2559) เป็นกรอบในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ด้านการผลิต 2. การตลาดและโลจิสติกส์ 3. การสร้างมูลค่าเพิ่มและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และ 4. การบริหารจัดการ ปี 2556 กรมประมงจะเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้โดยมีแผนดำเนินการ 28 โครงการที่จะให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทั้งนี้ ในด้านการผลิตนั้นจะพัฒนาระบบการผลิตและสร้างมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลผลิตปลาสวยงามเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี และจำนวนฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 5 ต่อปี หรือที่ 124 ล้านตัว ตั้งแต่ปี 2556 นี้ ด้านการตลาดและโลจิสติกส์จะส่งเสริมให้มีการขยายตลาดทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ เน้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะส่งเสริมให้สร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่ม รวมทั้งพัฒนาธุรกิจปลาสวยงามในลักษณะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปลาสวยงามได้รับการส่งเสริมและพัฒนาควบคู่กันไป ขณะที่ด้านการบริหารจัดการ จะให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือพหุภาคี โดยเน้นให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาธุรกิจปลาสวยงาม เพื่อให้การแก้ปัญหาต่างๆ ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออกและทุกภาคส่วที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเน้นการสร้างพันธมิตรคู่ค้า เพื่อให้ธุรกิจปลาสวยงามของไทยขยายเครือข่ายไปทั่วโลกต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 — 19 ส.ค. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,079.09 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 522.56 ตัน สัตว์น้ำจืด 556.53 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.85 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.73 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 76.33 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 6.38 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 68.06 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.34 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.94 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.40 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 86.23 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 84.34 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.89 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 111.43 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.43 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 151.64 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 153.04 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.40 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.68 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 38.72 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.04 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 65.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสุปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 185.71 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 191.67 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 5.96 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.37 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 20 — 26 ตุลาคม 2555) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 19.57 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 21.30 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.73
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22-28 ตุลาคม 2555--