สำรวจ 15 จุดรับซื้อในแหล่งปลูก ติดตามผลโครงการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ปี 55

ข่าวทั่วไป Tuesday November 6, 2012 13:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปูพรม 15 จุด 6 จังหวัด ติดตามผลระหว่างการดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ปี 2555 ราคามะพร้าวแห้งที่รับซื้อ จะอยู่ประมาณ 9 - 12 บาท/กก. ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและระยะทาง บางจังหวัดมีการปรับเพิ่มจำนวนโควตารับซื้อแล้ว ด้านเกษตรกรวอนภาครัฐช่วยมาตรการดูแลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 เห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ปี 2555 และได้อนุมัติวงเงิน 66.87 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ตั้งแต่เดือนกันยายน — พฤศจิกายน 2555 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในพื้นที่ 8 จังหวัด แหล่งปลูกมะพร้าว เพื่อให้ผู้ประกอบการ/ผู้รวบรวมที่ร่วมโครงการเปิดจุดรับซื้อมะพร้าวแห้ง จากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว โดยรัฐบาลจ่ายค่าการจัดการคุณภาพ การขนย้าย และการขนส่ง ณ จุดรับซื้อไปยังปลายทางในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 1 บาท และชดเชยส่วนต่างราคาให้แก่เกษตรกรกิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามและประเมินผลระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวม พบว่า ทุกจังหวัดได้รับจัดสรรเงินตามโควตาปริมาณมะพร้าวแห้งที่จะรับซื้อ รวม 46 จุด ปริมาณ 9,000 ตัน และจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูล 15 จุด ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี พบว่า จังหวัดส่วนใหญ่เริ่มเปิดจุดรับซื้อตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีบางจังหวัดที่เริ่มเปิดช่วงเดือนตุลาคม 2555

ส่วนราคามะพร้าวแห้งที่รับซื้อ จะอยู่ประมาณ 9 - 12 บาท/กก. ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพและระยะทางระหว่างจุดรับซื้อและปลายทาง โดยส่วนใหญ่โรงงานสกัดน้ำมันเป็นผู้กำหนดราคา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณการรับซื้อมะพร้าวตามโครงการ ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 40 และคาดว่าในช่วงระยะเวลาที่เหลือประมาณ 1 เดือน จะเร่งดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ด้านความพึงพอใจ พบว่า เกษตรกรที่ขายมะพร้าวแห้งในโครงการส่วนใหญ่ร้อยละ 83 มีความพึงพอใจต่อการชดเชยส่วนต่างราคาในระดับปานกลางถึงมาก และร้อยละ 78 เห็นว่า ราคา ณ จุดรับซื้อมีความเหมาะสมในระดับปานกลางถึงมากเช่นกัน โดยมีหลายจุดรับซื้อที่เกษตรกรขอเพิ่มโควตาจากที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากมีมะพร้าวมาก ซึ่งบางจังหวัดได้มีการเพิ่มจำนวนโควตาให้เกษตรกรแล้ว เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ปรับเพิ่มจากเดิม 20 กก./ไร่ เป็น 50 กก./ไร่ และ 75 กก./ไร่ ตามลำดับ

สำหรับด้านของราคา พบว่า ราคามะพร้าวแห้งหลังจากดำเนินโครงการ ได้มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยเนื่องจากโรงงานมีสต๊อกน้ำมันเป็นจำนวนมาก และผู้ประกอบการบางรายขาดสภาพคล่องเนื่องจากมีเงินทุนที่จำกัด ขณะที่ราคามะพร้าวผลได้ดีดตัวขึ้นสูง ประมาณ 1- 2 บาท/ผล และเกษตรกรที่นำมะพร้าวแห้งขายในโครงการฯ ได้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบวกเงินชดเชยที่ภาครัฐโอนเข้าบัญชีให้เกษตรกร โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีมาตรการดูแลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการแปรรูป และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะมีการติดตามผลการดำเนินงานอีกครั้งหลังจากสิ้นโครงการฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ