เตือนเกษตรกรรับมือ หลังภัยแล้งส่งผล 12 อำเภอในอุดรธานี ทำพื้นที่เกษตรเสียหาย 1.7 แสนไร่

ข่าวทั่วไป Thursday November 8, 2012 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 เผยสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดอุดรธานี ระบุ ประกาศภัยพิบัติฝนทิ้งช่วงแล้วใน 12 อำเภอ พื้นที่ทำการเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบเกือบ 4 แสนไร่ เสียหายกว่า 1.7 แสนไร่ เตือนเกษตรกรพร้อมรับมือ ด้านจังหวัดปักพื้นที่จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจขึ้นแล้ว ณ ที่ว่าการอำเภอ พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อพร้อมเยียวยาเกษตรกร

นายยรรยงค์ แสนสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 3 อุดรธานี (สศข.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2555/56 ในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 1,873,540 ไร่ โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตรวม 622,386 ตัน แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างต่อเนื่องหลายพื้นที่ ได้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปีลดลง ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดอุดรธานีจะมีระยะยาวนานกว่าทุกปี และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในปีเพาะปลูก 2555/56 อย่างแน่นอน

เบื้องต้นความรุนแรงสถานการณ์ภัยแล้งของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2555) พบว่า ขณะนี้จังหวัดอุดรธานีประสบภัยแล้งแล้ว เนื่องจากเหตุฝนทิ้งช่วง จำนวน 12 อำเภอ 90 ตำบล 899 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 82,258 ครอบครัว พื้นที่ทำการเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบ 398,775 ไร่ และล่าสุดได้รับความเสียหายกว่า 1.7 แสนไร่ ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง อำเภอหนองหาน อำเภอน้ำโสม อำเภอศรีธาตุ และอำเภอบ้านผือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งขึ้นแล้ว ณ ที่ว่าการอำเภอและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเตรียมให้การอุดหนุนและเยียวยาแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบไร่ละ 606 บาท พร้อมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพมาเปลี่ยนให้กับเกษตรกรฟรี โดยดำเนินการผ่านศูนย์กระจายพันธุ์ข้าวตำบล

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ทั้ง 15 แห่ง ของจังหวัดอุดรธานีขณะนี้เหลือเพียง 109.27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 40 จากความจุทั้งสิ้น 275.83 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นมา โดยคาดว่าสถานการณ์จะต่อเนื่องไปจนถึงฤดูร้อน ปี 2556 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งในหลายอำเภอในช่วงนี้ เกษตรกรได้ทำการเตรียมดินเพื่อทำนาปรังแล้ว ดังนั้น เกษตรกรจะต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ด้วย นายยรรยงค์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ