นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมงานเสวนาเรื่อง “เปิดพรมแดนเมืองเศรษฐกิจใหม่ แม่สอด-เมียวดี” ซึ่ง สศข.2 ได้เข้าร่วมเสวนาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 600 คน โดยมุ่งเน้นเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยและพม่าเข้ามาลงทุนในเขตการค้าชายแดน แม่สอด — เมียวดี ให้มากขึ้น ในรูปแบบการนำเสนอศักยภาพ ความพร้อม โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 แหล่ง และช่องทางการเจรจาทางการค้าในประเทศพม่าเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับผลสรุปในการจัดเสวนาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าศักยภาพเศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย-พม่าในปัจจุบันนั้น นับว่าไทยเป็นประเทศคู่ค้าของพม่าอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน (ยูนาน) ซึ่งในปี 2554 มูลค่าทางการค้าโดยรวมของไทย-พม่า สูงถึง 287,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการค้าชายแดนในจุดผ่านแดนถาวร 4 จุด ทั่วประเทศ ประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการค้าไทย-พม่าทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันด่านการค้าชายแดนไทยพม่ามีจำนวน 4 ด่าน ได้แก่ 1) ด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก -เมียวดี 2) ด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย — ท่าขี้เหล็ก 3) ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และ 4) ด่าน จ.ระนอง — เกาะสอง
หากพิจารณามูลค่าการค้าชายแดนของไทย พบว่า เขตการค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่มีมูลค่าทางค้าชายแดนของไทย-พม่า สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจุดผ่านแดนถาวรอื่นๆ โดยคิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 20,000 - 30,000 ล้านบาท/ปี และในปี 2555 คาดว่าไทยจะมีมูลค่าทางการค้ามากกว่า 37,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าบริเวณชายแดนระหว่างไทย — พม่า ทั้งหมด
สำหรับแนวทางการพัฒนาและการเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจการค้าในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ในส่วนของด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก นั้น หน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดตาก โดยเฉพาะใน อ.แม่สอด ควรบูรณาการร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับภาค เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาการค้าชายแดนให้เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน อ.แม่สอด จ.ตาก และโครงการจัดสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 เพื่อให้สอดรับต่อการจัดสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ของพม่า ที่คาดว่าจะพร้อมเปิดใช้บริการก่อนปี 2558 อันจะเป็นอีกปัจจัยช่วยกระตุ้นให้มูลค่าทางการค้าชายแดนไทย-พม่าขยายตัวได้อย่างมหาศาล ส่วนแนวทางการพัฒนาและการเตรียมพร้อมของพม่าขณะนี้นั้น ภาครัฐของพม่าได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยึดถือและปฏิบัติตามกฏหมายการค้า/การลงทุน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายสินค้า การเงิน และการลงทุน สามารถดำเนินการได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2556 รัฐบาลพม่าจะประกาศใช้กฎหมายการค้าฉบับใหม่ที่ปรับปรุงจากกฎหมายการค้าเดิม เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในประเทศพม่ามากขึ้น เช่น การลดภาษี การลดอัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิเท่าเทียมกันนักลงทุนชาติตนเอง ตลอดจนการเชื่อมโยงการค้าในหลายจุด และพัฒนาเส้นทางการคมนาคมสู่ตลาดจีนและอินเดียในอนาคต รวมไปถึงการกำหนดมาตรการด้านการขยายโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินธุรกิจในเบียนมาได้นานถึง 50 ปี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศพม่าควรพิจารณาเลือกลงทุนในธุรกิจที่กำลังดำเนินนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการค้าการลงทุนในประเทศ เช่น นโยบายด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า นโยบายด้านการยกระดับการพัฒนาการเกษตร และนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งนโยบายเหล่านี้รัฐบาลกลางจะส่งเสริมตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ นายชวพฤฒ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--