นราธิวาสจัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เตือนเกษตรกรรับมืออุทกภัยและดินโคลนถล่ม

ข่าวทั่วไป Friday November 30, 2012 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 ประสานคณะกรรมการบริหารศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดนราธิวาส พร้อมรับมือภัยพิบัติอุทกภัยและดินโคลนถล่ม จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ วอนเกษตรกรติดตามข่าวสารให้ทันสถานการณ์ แนะ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อรับสิทธิ์ขอความช่วยเหลือจากรัฐ กรณีเกิดภัยพิบัติ

นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 (สศข.9) สงขลา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดนราธิวาสว่า จากรายงานคาดหมายลักษณะอากาศบริเวณจังหวัดนราธิวาสของเดือนธันวาคม 2555 พบว่าจะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ส่งผลให้จังหวัดนราธิวาสมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-4 เมตร

ในการนี้ ทางคณะกรรมการฯ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ ของจังหวัดนราธิวาส และแผนปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีอุทกภัย ปี 2556ขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์และเพื่อแจ้งเตือนภัยให้แก่เกษตรกรอย่างทันสถานกาณณ์ โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดอุทกภัย ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำสายหลัก เช่น อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ อำเภอ ระแงะ อำเภอจะแนะ อำเภอเมือง อำเภอรือเสาะ บริเวณที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอบาเจาะ ส่วนบริเวณที่เสี่ยงต่อโคลนถล่ม เช่น อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร

ดังนั้น จึงขอเตือนเกษตรกรที่อยู่บริเวณดังกล่าวเฝ้าระวังภัยและติดตามรับฟังข่าวสารของทางราชการเป็นระยะเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือให้เกษตรกรทุกครัวเรือนไปขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เนื่องจากหากไม่ขึ้นทะเบียนจะทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่ประสบภัย 13 อำเภอ เกษตรกรจำนวน 4,693 ราย พื้นที่ 5,247 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 20.57 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าด้านพืช 15.12 ล้านบาท ด้านประมง 2.47 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ 2.98 ล้านบาท และจังหวัดได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายธรณิศร กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ