เกษตรฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.0 พร้อมคาดการณ์แนวโน้มปี 56

ข่าวทั่วไป Tuesday December 18, 2012 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ แถลง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากการผลิตโดยทั่วไปกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 54 โดยสาขาการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ปศุสัตว์ บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ส่วนสาขาประมงหดตัวลง เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและการขาดแคลนลูกกุ้ง คาด แนวโน้มปี 56 ยังขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเติบโตของภาคเกษตรโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งพบว่าในปี 2555 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรโดยทั่วไปกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังอุทกภัยใหญ่ปลายปี 2554 ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ซึ่งปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปี 2554 แม้ว่าในช่วงปีนี้จะมีสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรทั้งภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัยเกิดขึ้นในบางพื้นที่ของประเทศ แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายกับภาคเกษตรมากนัก โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ ซึ่งเป็นผล มาจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเกษตรกร สำหรับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง มีผลผลิตลดลง

          ด้านราคาสินค้าพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน โดยราคาข้าว เป็นไปตามมาตรการยกระดับราคาภายในประเทศ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ในช่วงที่มีความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และอ้อยโรงงาน เป็นไปตามความต้องการและราคาในตลาดโลก สำหรับยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ มีราคาลดลง โดยราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ลดลงตามวิกฤติเศรษฐกิจโลก ราคามันสำปะหลังลดลงจากการที่โครงการรับจำนำสามารถเปิดจุดรับจำนำได้น้อย ทำให้เกษตรกรต้องจำหน่าย        มันสำปะหลังนอกโครงการซึ่งมีราคาต่ำกว่า และไม้ผลส่วนใหญ่ ราคาลดลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก  ด้านการส่งออก สินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยข้าวมีความต้องการจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทย ขณะที่น้ำมันปาล์ม มีสาเหตุจากราคาในตลาดโลกต่ำกว่าราคาในประเทศ ไม่จูงใจให้มีการส่งออก และยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงจากราคาส่งออกที่ตกต่ำ

สาขาปศุสัตว์ ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยภาวะการผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการระบบการผลิตของฟาร์มเลี้ยงที่ดีขึ้น ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคเนื้อไก่จากตลาดต่างประเทศสูงขึ้นจากความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าของไทย รวมทั้งสหภาพยุโรปยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดจากไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ทำให้มีการขยายการเลี้ยงไก่เนื้อ สำหรับการผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โคนมที่เพิ่มและปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของแม่โคนมที่สูงขึ้น ส่วนการผลิตสุกรขยายตัวจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจลดลง (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ ที่สำคัญส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสุกร เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่ราคาน้ำนมดิบสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคุณภาพดีขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรทดแทนการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว และอ้อยโรงงาน โดยเฉพาะข้าวที่เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นภายหลังจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้มีการใช้บริการเตรียมดินเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้มีการใช้บริการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และ สาขาป่าไม้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณร้อยละ 1.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปริมาณไม้ยางพาราท่อนที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยางในพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555-2556 เพื่อปลูกทดแทนใหม่ด้วยยางพันธุ์ดีและเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายางในประเทศ สำหรับปริมาณผลผลิตและมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งและครั่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ส่วนปริมาณผลผลิตถ่านไม้ลดลงตามความต้องการใช้ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สาขาที่ลดลง คือ สาขาประมง ซึ่งลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากราคากุ้งไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต อันเป็นผลมาจากยอดการสั่งซื้อจากตลาดหลักในต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ลดลง ประกอบกับในช่วงกลางปี 2555 ผู้ผลิตลูกกุ้งชะลอการผลิตเพื่อควบคุมไม่ให้ล้นตลาด ทำให้เกิดปัญหาลูกกุ้งขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งพื้นที่เลี้ยงในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก ประสบปัญหาโรคกุ้งตายก่อนวัยอันควร (Early Mortality Syndrome: EMS) ในขณะที่การทำประมงทะเลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

โดยปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าเทียบเรือของภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตประมงน้ำจืดที่สำคัญ คือ ปลานิล มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากแหล่งผลิตปลานิลที่สำคัญประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตช้า ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงยาวนานขึ้น

สำหรับราคากุ้งขาวแวนนาไมลดลง เป็นผลต่อเนื่องมาจากการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดหลักสหรัฐอเมริกานั้น ความต้องการยังไม่กระเตื้องขึ้น เนื่องจากสต็อกที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าในช่วงต้นปี 2555 ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยค่อนข้างตกต่ำ แต่ในช่วงปลายปีราคากุ้งเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในระดับหนึ่งจากการดำเนินงานตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม โดยระบบเครือข่ายแบบกลุ่ม (Shrimp Cluster) ของรัฐบาลเพื่อชดเชยราคาให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับการส่งออกสินค้าประมงของไทย มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ ส่วนมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ลดลง เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลง

ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 โดย สาขาพืช ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 — 5.0 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย สำหรับพืชสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรและการควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชที่ดี สำหรับยางพารา คาดว่ามีเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในช่วงปี 2551 - 2553 เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไม้ผล เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ และส้มเขียวหวานมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคาผลผลิตพืชมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกขึ้นอยู่กับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน อาจกระทบต่อแหล่งเพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญ ทำให้ราคาธัญพืชและอาหารของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

สาขาปศุสัตว์ ปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 — 2.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การผลิตในสาขาปศุสัตว์ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาด และต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ขณะที่ราคาไข่ไก่และน้ำนมดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยยังมีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และคุณภาพของน้ำนมดิบ

สาขาประมง ในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) - 0.8 เนื่องจากการผลิตประมงน้ำจืดและประมงทะเล ยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยปริมาณผลผลิตประมงน้ำจืดขึ้นอยู่กับการวางแผนการผลิตและสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของประมงทะเลขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนก็จะทำให้ผลผลิตลดลง สำหรับสถานการณ์ด้านราคาและการค้า คาดว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิต มีคุณภาพที่ดีตรงตามความต้องการของตลาด สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าในปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 — 3.5 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมการให้บริการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 — 1.5 จากนโยบายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555 - 2556 ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ยังคงเหลือพื้นที่เป้าหมายอีกประมาณ 260,000 ไร่ รวมถึงมูลค่าผลผลิตและส่งออก น้ำผึ้ง ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ส่วนการผลิตถ่านไม้และไม้ฟืนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ที่ลดลง

                                          หน่วย: ร้อยละ
                  สาขา           2555          2556
                ภาคเกษตร            4       3.5 — 4.5
                   พืช             5.5       4.0 - 5.0
                  ปศุสัตว์           3.2       1.8 — 2.8
                  ประมง          -2.7    (-0.2) - 0.8
            บริการทางการเกษตร      2.9       2.5 — 3.5
                  ป่าไม้            1.4       0.5 — 1.5
          ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ