1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
เร่งรวบรวมพันธุ์ปลาบู่มหิดล
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ปลาบู่มหิดลสำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทยปี 2469 โดย Dr. Hugh McCormick Smith ชาวอเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาปฏิบัติงานด้านการเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ พบครั้งแรกในบริเวณแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี และได้ขอพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในการที่พระองค์ทรงสนพระทัย ทรงใคร่ติดตาม และเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อการประมงของประเทศไทย
ปลาบู่มหิดล มีลักษณะเด่นต่างกับปลาบู่สกุลอื่นทั้งหมดของโลก เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก หัวค่อนข้างโตและแบน ที่ส่วนหัวไม่มีเกล็ด ตามีลักษณะกรมโตสีฟ้า ปากกว้างจนมีกระดูกขากรรไกรที่ยื่นเลยขอบหลังตา ฟันมีขนาดเล็กและมีแถวเดียวที่ขากรรไกรบน ลำตัวสั้น มีเกล็ดตามลำตัว ข้างแก้มมีจุดกระสีดำ ลำตัวมีลายพาดสีคล้ำหรือสีน้ำตาลบนพื้นสีม่วงอ่อน 4 — 5 แถบ ครีบหลังด้านหน้ามีจุดสีน้ำเงินเด่นชัด ปลายครีบหลังจะมีสีส้ม ครีบอกมีลักษณะคล้ายที่ยึดเกาะ อดีตปลาบู่มหิดลถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในสภาพน้ำและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ แต่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการทำประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ ประเภทกางกั้นจำพวกโพงพางมือ ทำให้จำนวนปลา ชนิดนี้ลดลงและอาจสูญพันธุ์ได้
ล่าสุด กรมประมง ได้รวบรวมปลาบู่มหิดลตามแหล่งน้ำธรรมชาติได้จำนวนหนึ่ง เพื่อเตรียมนำมาศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจันทบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ กรมประมง จึงขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่าน หากพบเห็นปลาชนิดนี้ขอให้ติดต่อไปยังสำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อกรมประมงจะได้รวบรวมปลาชนิดนี้ไปศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 — 14 ต.ค. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 653.50 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 252.53 ตัน สัตว์น้ำจืด 400.97 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.88 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.84 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 34.93 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 0.18 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 53.65 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.65 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.24 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.59 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.30 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 90.65 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.35 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150.79 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 152.24 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.45 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 145.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 32.30 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 29.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.59 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 78.57 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 76.43 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.14 บาท
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 92.67 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 89.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.67 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 180.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.44 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 15 — 21 ธันวาคม 2555) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17-23 ธันวาคม 2555--