ไทยโชว์ผลสำเร็จ บรรลุเป้าการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ลดสัดส่วนผู้อดอยากหิวโหยได้ก่อนถึงปี 58

ข่าวทั่วไป Wednesday January 2, 2013 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ FAO นำเสนอผลการศึกษาความไม่มั่นคงด้านอาหารของไทย เผยผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โชว์จำนวนสัดส่วนผู้ขาดสารอาหารไทยลดลงต่ำกว่าการประมาณการของ FAO ที่เผยแพร่ในเอกสาร SOFI ซึ่งคิดเป็นประชากรประมาณ 3.8 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสุดยอดความมั่นคงอาหารโลก หรือ World Food Summit ครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1966 ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการลดจำนวนประชากรโลก ผู้อดอยากหิวโหยลงครึ่งหนึ่ง โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ติดตาม และประเมินผลจำนวนผู้อดอยาก หิวโหย หรือ Prevalence of Undernourished ของประเทศต่างๆ เพื่อเผยแพร่ในเอกสาร SOFI โดย SOFI ฉบับแรก เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1999 ซึ่งในเอกสารดังกล่าว ได้ประมาณการจำนวนผู้อดอยากหิวโหยของประเทศไทย คิดเป็นประมาณร้อยละ 26 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 16 ในเอกสาร SOFI ฉบับปี ค.ศ. 2011 อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่าตัวเลขดังกล่าวอาจไม่สะท้อนสถานะที่แท้จริงของประเทศไทย ซึ่งควรจะต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ

ดังนั้น FAO จึงได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อจัดทำโครงการ Analysis of Food Security Statistic in Thailand โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ ปรับปรุง เพิ่มเติม แก้ไข ข้อมูล ที่ใช้หาค่าตัวแปรต่าง ๆ สำหรับคำนวณตัวเลข ผู้อดอยากหิวโหย ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาความไม่มั่นคงด้านอาหารของไทย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชลิต ดำรงศักดิ์) เป็นประธาน

สำหรับผลการศึกษาพบว่า สัดส่วนผู้ขาดสารอาหารของประเทศไทยลดลงต่ำกว่าการประมาณการของ FAO ที่เผยแพร่ในเอกสาร The State of Food Insecurity in the World: SOFI โดยอยู่ที่ร้อยละ 5.5 คิดเป็นประชากรประมาณ 3.8 ล้านคน ส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ MDG ในการลดสัดส่วนผู้อดอยากหิวโหยลงมากกว่าครึ่งก่อนถึงกำหนดภายในปี 2558

โครงการ Analysis of Food Security Statistic in Thailand ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการจัดทำข้อมูลสำหรับใช้คำนวณตัวเลขผู้ขาดสารอาหารของไทย มีหน่วยงานประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้แทนกรมต่างๆ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันตรวจสอบ ปรับปรุง และเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ในการหาค่าตัวแปรหลักสามตัว อันประกอบด้วย

1) พลังงานจากอาหารที่มีอยู่สำหรับการบริโภคของคนไทย หรือ Dietary Energy Supply 2) พลังงานขั้นต่ำที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ หรือ Minimum Dietary Energy Requirement ซึ่งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และ 3) ความไม่เสมอภาคของการบริโภคของแต่ละกลุ่มประชากร หรือ CV of Dietary Energy Consumption เพื่อนำมาใช้ในการประมาณการสัดส่วนผู้ขาดสารอาหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญจาก Statistic Division ของ FAO สำนักงานใหญ่ กรุงโรมประเทศอิตาลี

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลการบริโภคของประชากรในระดับพื้นที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ได้รวมเอาปริมาณการบริโภคอาหารที่มีการผลิตเอง หรือได้มาฟรีเข้ามาสู่การคำนวณด้วย และยังทำให้สามารถระบุปริมาณสารอาหารที่ประชากรในแต่ละพื้นที่ได้บริโภคอีกด้วย สะท้อนให้เห็นแนวโน้มความไม่มั่นคงอาหารเชื่อมโยงถึงระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงอาหารได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินการโครงการได้จัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษชื่อ “รายงานการวิเคราะห์ความไม่มั่นคงด้านอาหารของประเทศไทย พ.ศ. 2548 - 2554” และ “Food Insecurity Assessment at National and Sub-national Levels in Thailand, 2005-2011” และจะตีพิมพ์ออกมาในช่วงต้อนปี 2556 เลขาธิการ กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ