สศก.ร่วมประชุมรัฐภาคีฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เล็งเจรจาหาข้อสรุปภาคเกษตร

ข่าวทั่วไป Wednesday January 2, 2013 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 18 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 8 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ชูข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่า “Doha Climate Gateway package” ช่วยสานต่อพิธีสารเกียวโต ไปจนถึงปี 2563 เผย การเจรจาภาคเกษตร ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เดินหน้าพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุม SBSTA มิถุนายน 56

นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 18 (COP 18) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 8 (CMP 8) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน — 9 ธันวาคม 2555 ณ กรุง โดฮา รัฐกาตาร์ เสร็จสิ้นลง โดยได้ข้อตกลงใหม่ที่เรียกว่า “Doha Climate Gateway package” ซึ่งสามารถต่ออายุพิธีสารเกียวโต ไปจนถึงปี 2563 และหลังจากที่มีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2548 และระหว่างปี 2552 — 2555 ได้มีข้อตกลงสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินงานในอนาคตหลายฉบับ ได้แก่ “Copenhagen Accord” และ “Cancun Agreements” รงมถึง “Durban Platform”

สำหรับความสำคัญของ Doha Climate Gateway package คือ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับพันธกรณีระยะที่ 2 ของพิธีสารเกียวโตในช่วง ปี ค.ศ. 2013-2020 ร้อยละ 18 จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 1990 ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลดลง อย่างไรก็ตาม ทางแคนาดาได้ถอนตัวออกจากพิธีสารเกียวโต ส่วนญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และรัสเซีย ไม่ส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และสหรัฐอเมริกายังคงยืนยันไม่เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตเช่นเดิม ทำให้ผลรวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโตมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกโลก ดังนั้น ความพยายามที่จะรักษาอุณหภูมิโลก เพื่อการปรับตัวของระบบนิเวศน์ จนไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนมีการเปรียบเปรย ผลการประชุมนี้ว่าเป็น “a gateway to climate injustice and climate death”

สำหรับภาคเกษตร ผลการเจรจายังไม่สามารถนำไปสู่ข้อตัดสินใจของ COP 18 เพราะยังต้องเจรจาข้อตกลงกัน ในเรื่องเนื้อหาของร่างข้อตัดสินใจภาคเกษตร อันประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการ มาตราที่เกี่ยวข้องในอนุสัญญาฯ และประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง รวมทั้งหัวข้อการสัมมนาที่จะให้ SBSTA ซึ่งเป็นองค์กรย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการ โดยประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนายังมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องหลักการของความร่วมมือ หัวข้อการจัดสัมมนาเรื่องผลกระทบและการปรับตัว และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร

นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการให้มีการปรับรายงานเชิงเทคนิคเรื่อง “Challenge and opportunities for mitigation in the Agriculture Sector” ที่มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่ ปี 2551 ให้ทันสมัย ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้น ต้องการให้ลำดับความสำคัญกับเรื่องการปรับตัวของภาคเกษตรก่อน โดยประเทศอินเดียแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ทั้งนี้ ประเด็นที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีความเห็นสอดคล้องกัน คือ การดำเนินงานใดๆ ของภาคเกษตรภายใต้ SBSTA ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ SBSTA ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา คือต้องเป็นเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การประเมินองค์ความรู้ และศักยภาพ และให้คำแนะนำในเรื่องโครงการวิจัยและความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของความเห็นที่ยังแตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย จะมีพิจารณาอีกครั้งในการประชุม SBSTA เดือนมิถุนายน 2556

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ