ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 29, 2013 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

กรมประมงแจงโรคตายด่วนในกุ้งทะเล

กรมประมงได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงเพาะฟักกุ้งทะเลและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

เกี่ยวกับการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้งทะเลในพื้นที่ภาคใต้ โดย ดร.พุทธ ส่องแสงจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์โรคตายด่วนและแผนปฏิบัติเฝ้าระวัง รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคระบาดของกุ้งทะเลและแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนในโรงเพาะฟักกุ้งทะเลและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล นครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเป็นจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจการเลี้ยงกุ้งจะต้องใช้เงินลงทุนสูง หากเกิดปัญหาเรื่องโรคกุ้งตาย จะขาดทุนสูงเช่นกัน

จากสถานการณ์การเกิดโรคคล้ายกับอาการของโรคในกลุ่ม Early Mortality Syndrome : EMS หรือโรคตายด่วนในกุ้งขาวแวนนาไม โดยจะเกิดกับลูกกุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินช่วง 20 — 30 วันแรก แล้วมีอาการตับอักเสบอย่างเฉียบพลัน มีอัตราการตายสูง 100% ในระยะเวลาเพียง 2 — 3 วัน หลังจากพบอาการของโรคนั้น ซึ่งหากปล่อยไว้อาจกระทบถึงภาพรวมของผลผลิตกุ้งภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกกุ้งในตลาดโลก

กรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการประสานหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ สมาคมผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงวางแนวทางป้องกันการแพร่ขยายของโรค สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอีกส่วนหนึ่ง คือ การปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเล เพื่อป้องกันความสูญเสียจากกลุ่มอาการตายด่วน เนื่องจากโรงเพาะฟักฯ เป็นแหล่งผลิตลูกกุ้งแรกฟักหรือนอเพลียส ป้อนโรงอนุบาลลูกกุ้งทะเลทั่วประเทศ หากแหล่งกำเนิดดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นตามแผนปฏิบัติการป้องกันควบคุมป้องกันโรคตายด่วน ก็จะช่วยชะลอการระบาดของโรคได้

สำหรับมาตรการปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักฯ นอเพลียส จะดำเนินการทั่วประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม — เมษายน 2556 แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วยโซนที่ 1 ภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และตราด โซนที่ 2 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา โซนที่ 3 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต และโซนที่ 4 ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.พังงา

นางเจนจิตต์ คงกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคตายด่วน ได้มีการร่วมมือเฝ้าระวังทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ในส่วนของกรมประมงเอง มีแนวทางในการป้องกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับต้นน้ำก็คือ โรงเพาะฟัก โดยจะเน้นให้โรงเพาะฟักผลิตลูกกุ้งที่มีคุณภาพ รวมทั้งบ่ออนุบาล โรงอนุบาล ที่ผลิตลูกกุ้ง P เพื่อให้เกษตรกรปล่อยอย่างมีคุณภาพ พยายามให้ปลอดโรคน้อยที่สุด ในส่วนของปลายน้ำคือ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งเอง เกษตรกรก็ต้องมีมาตรการดูแลกุ้งที่ดี การจัดการบ่อที่ดี การให้อาหารการดูแลกุ้งทุกอย่างก็ต้องมีมาตรการเข้มข้นขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาความเสี่ยงของโรค EMS นี้ได้

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุว่า อาจจะเกิดจากเชื้อโรคหรือว่าสารเคมีหรือว่าจะเป็นการจัดการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้นักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพยายามที่จะหาสาเหตุอยู่ เราอาจจะต้องรอคอยกันต่อไป ดูว่าสาเหตุมันจะเกิดจากอะไร แต่ในส่วนหนึ่งที่ทำได้ก็คือ หาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ไม่ให้แพร่ระบาดไปมากและทำความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมกุ้งมากไปกว่านี้

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 — 18 พ.ย. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 793.06 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 298.43 ตัน สัตว์น้ำจืด 494.63 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

                    1.1  ปลาดุก              ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 2.44     ตัน
                    1.2  ปลาช่อน             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 3.30     ตัน
                    1.3  กุ้งทะเล             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                42.98     ตัน
                    1.4  ปลาทู               ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 2.16     ตัน
                    1.5  ปลาหมึก             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 86.00    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 39.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.42 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.85 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 90.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.85 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 102.86 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 100.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.86 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 165.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 158.78 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.22 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 176.67 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 165.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 11.67 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 34.18 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 31.18 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.00 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.71 บาท สูงขึ้นจาก กิโลกรัมละ 79.29 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.42 บาท

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 96.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 85.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 11.00 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 168.57บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 177.14 บาท สัปดาห์ที่ผ่านมา 8.57 บาท

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.69 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.62 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.07 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 19 — 25 มกราคม 2556) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 22.62 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 23.30 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.68 บาท

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 21 - 27 มกราคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ