สศข.8 ประเมินผลโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 55 ชู เกษตรกรได้รับประโยชน์เต็มที่

ข่าวทั่วไป Wednesday January 30, 2013 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ประเมินผลโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2555 ในจังหวัดชุมพร เผย เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการขายผลไม้ให้องค์กรหรือสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยขายได้ราคาสูงกว่าตลาดอื่นๆ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.31 บาท และสามารถขายผลผลิตให้องค์กร/สถาบันเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่ 6,193 กิโลกรัม/ครัวเรือน

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายและมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้ เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ป้องกันการเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งดำเนินการใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการกระจายผลผลิตในประเทศ มาตรการส่งเสริมการแปรรูป มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ มาตรการส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 นั้น

ในการนี้ สศข.8 ได้ประเมินผลโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2555 ในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดชุมพร ซึ่งพบว่า การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตทาง คชก. ได้สนับสนุนเงินจ่ายขาดค่าการตลาดและเหมาจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอัตรากิโลกรัมละ 1 บาท และค่าขนส่งเหมาจ่ายกิโลกรัมละ 2 บาท ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในการรวบรวมผลไม้และกระจายไปยังตลาดปลายทางนอกแหล่งผลิต จำนวน 6,896 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24 ของเป้าหมาย (28,880 ตัน) และได้สนับสนุนเงินจ่ายขาดเป็นค่าบริหารจัดการมังคุด จำนวน 20.578 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการขายผลไม้ให้องค์กร/สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยได้ราคาสูงกว่าตลาดอื่นๆ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.31 บาท และจากการศึกษาช่องทางการขายผลผลิตมังคุด พบว่า เกษตรกรขายผลผลิตให้องค์กร/สถาบันเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ เฉลี่ย 6,193.49 กิโลกรัมต่อครัวเรือน ซึ่งการขายแบ่งเป็น 3 เกรด ได้แก่ เกรด A ราคาเฉลี่ยที่ 20.00 บาทต่อกิโลกรัม เกรด B ราคาเฉลี่ยที่ 12.75 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 13.77 บาทต่อกิโลกรัม

นายสมพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ด้านความพึงพอใจขององค์กร/สถาบันเกษตรกรต่อราคาผลไม้ในช่วงที่มีการดำเนินงานตามมาตรการส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในระดับมาก ส่วนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ การกำหนดราคา ขั้นตอนการดำเนินงาน และองค์กรที่เข้าร่วมอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ เกษตรกรมีข้อเสนอแนะว่า ให้มีโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและทุกปี และควรเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรรับรู้รายละเอียดโครงการฯ ผ่านช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น โดยผ่านสื่อที่ใกล้ชิดเกษตรกรหรือเข้าถึงตัวเกษตรกรได้ง่าย เช่น ผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป โดยเฉพาะผ่านการประชุมหมู่บ้านหรือประชุมกลุ่มต่างๆ ที่เกษตรกรเข้าเป็นสมาชิก รวมทั้ง ควรปิดป้ายประชาสัมพันธ์ให้เห็นเด่นชัดที่หน้าจุดรับซื้อของโครงการทุกจุด และควรจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลประจำจุดรับซื้อทุกจุดรับซื้อ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ