นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรปี พ.ศ.2556 - 2559 และได้มีนโยบายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 - 12 ร่วมกับสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดำเนินการวิจัยเชิงบูรณาการเรื่อง “ภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปลูกปาล์มน้ำมัน ปี 2556” โดยจะดำเนินการศึกษาในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วทุกภาคของประเทศ จำนวน 54 จังหวัด ซึ่งใช้กรอบการประเมินในลักษณะตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบถึงสิ้นสุดการผลิตที่การเก็บเกี่ยว (Cradle to gate) เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันและเพื่อศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทย
สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินการวิจัย ขณะนี้ ทางคณะวิจัยการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการปลูกปาล์มน้ำมันของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายตามข้อตกลงทำงานร่วมกัน (MOU) ร่วมพิจารณาและทดสอบแบบสอบถามกับเกษตรกรทั้งรายเล็กและรายใหญ่ของจังหวัดชลบุรี โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ในฐานะเจ้าบ้าน ได้เตรียมจัดกำหนดการเพื่อศึกษาดูงาน ณ บริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยสู่ผู้บริโภค รวมทั้งการใส่ใจดูแลสมาชิกเกษตรกรในเครือข่ายและเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคมนี้ ซึ่งคาดว่า ผลการลงพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันและศึกษากระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม จะได้ข้อมูลเชิงลึกในรายกิจกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันและเป็นประโยชน์ในการดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรปี พ.ศ.2556 - 2559 และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งสาระสำคัญของกรอบแนวคิด เน้นให้สนับสนุนการพัฒนาเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจำเป็นต้องดำเนินการวิจัย พัฒนา สร้างองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมทั้งการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการปรับการผลิตสู่เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรคาร์บอนต่ำโดยความสมัครใจ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--