ขอนแก่น รุกต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา นำร่อง อ.ซำสูง สู่แหล่งเรียนรู้ต้นแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Wednesday February 27, 2013 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ขอนแก่นเดินหน้า สร้างต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ร่วมขับเคลื่อน ผนึกกำลัง 41 หน่วยงานในจังหวัด บูรณาการภารกิจสู่การพัฒนาพื้นที่ นำร่องแล้วที่อำเภอซำสูง ตั้งเป้าเกษตรกร 1 พันครัวเรือน/ปี พร้อมชูกิจกรรม 6 ด้าน หวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านการเกษตรอย่างครบวงจร

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศข. 4 ได้ร่วมวางแผนบูรณาการกับ 41 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดขอนแก่นสร้างต้นแบบโครงการอำเภอเกษตรพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาอำเภอต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ ส่งเสริมสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทางการเกษตร และเครือข่ายการค้าผ่านสถาบันเกษตรกร ในการเพิ่มทักษะทางอาชีพการเกษตร และวิธีการสร้างรายได้ที่หลากหลายแก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างคุณภาพและมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรในพื้นที่รองรับความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัด ภูมิภาค และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการนำร่อง กำหนดที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 1,000 ครัวเรือน/ปี ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2556 - 2558) โดยแยกกิจกรรมที่จะดำเนินการรวม 6 ด้าน ดังนี้

          ด้านพืช มุ่งเน้นกิจกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีใช้เองในชุมชน การผลิตเมล็ดพันธุ์หลักถั่วลิสง การปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่  การพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัย และการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตอ้อย          ด้านปศุสัตว์  ได้แก่ กิจกรรมโคนอนนาคืนคุณค่าสู่ผืนดิน การส่งเสริมกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์และขยายพันธุ์  กิจกรรมธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ  การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและปรับปรุงพันธุ์ด้วยน้ำเชื้อคุณภาพดี  กิจกรรมเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม บำบัดและชันสูตรโรคสัตว์ ป้องกัน แก้ไข  และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนก   ด้านประมง  จัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ประมงโรงเรียน และเพิ่มผลผลิตปลาในแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน

สำหรับ ด้านการจัดการทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน จัดกิจกรรมปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ จัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ซ่อมแซมคลองส่งน้ำฯ และเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มผู้ใช้น้ำฯ ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เน้นกิจกรรมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนรวมทั้งในโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีสู่บัญชีต้นทุนอาชีพ สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ พัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน สำรวจเกษตรกร ศักยภาพ ความต้องการด้านหม่อนไหม การยกระดับมาตรฐานการผลิตเครือข่ายวิสาหกิจไหม และเผยแพร่หลักการอุดมการณ์วิธีการสหกรณ์แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป และ ด้านการติดตามและประเมินผล ซึ่งได้แก่ กิจกรรมติดตามนิเทศงาน และติดตามประเมินผล

ผลที่ได้จากโครงการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความรู้เพิ่มมากขึ้น มีทักษะทางอาชีพ และวิธีสร้างรายได้ที่หลากหลาย มีแหล่งเรียนรู้ชุมชนในพื้นที่ มีเครือข่ายการเรียนรู้ทางการเกษตร เครือข่ายทางการค้าผ่านสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพมาตรฐาน และมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สศข.4 จะร่วมดำเนินการประเมินผลโครงการดังกล่าวด้วย นายบัณฑิตกล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ