สศข.8 เผยผลศึกษาเศรษฐกิจ สังคม ภาคเกษตร ลุ่มน้ำปากพนัง

ข่าวทั่วไป Monday March 18, 2013 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 เปิดผลศึกษาภาวะเศรษฐกิจ สังคม ของครัวเรือนเกษตรพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรฯ เผย ครัวเรือนเกษตรในพื้นที่โครงการฯ มีรายได้เงินสดเฉลี่ยครัวเรือนละกว่า 3 แสนบาท แนะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้ถึงประโยชน์ของโครงการฯ และส่งเสริมการรวมกลุ่มแบบยั่งยืน

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศข.8 ได้ทำการศึกษาภาวะเศรษฐกิจ สังคม ของครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในช่วงปี พ.ศ.2555 — 2559 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเปรียบเทียบผลการพัฒนาในโอกาสต่อไป รวมทั้งศึกษาปัญหา อุปสรรค ทัศนคติ และแนวคิดในการประกอบอาชีพของเกษตรกร

ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 3.81 คนต่อครัวเรือน และระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ร้อยละ 47 ได้รับการศึกษาในเกณฑ์ภาคบังคับ พื้นที่ถือครองเฉลี่ย 19.79 ไร่ต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน เฉลี่ย 10.07 ไร่ต่อครัวเรือน เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานเฉลี่ย 9.72 ไร่ต่อครัวเรือน การเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือสถาบัน ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์การเกษตร รวมทั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ตามลำดับ ทั้งนี้ ครัวเรือนเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในโครงการฯ มีรายได้เงินสดรวมเฉลี่ยครัวเรือนละ 335,021.27 บาท ในจำนวนนี้ เป็นรายได้เงินสดทางการเกษตร เฉลี่ยครัวเรือนละ 197,321.62 บาท และรายได้เงินสดนอกการเกษตร เฉลี่ยครัวเรือนละ 137,699.65 บาท

ด้านปัญหา ทัศนคติ และแนวคิดของเกษตรกรในภาพรวม พบว่า ครัวเรือนเกษตร มีปัญหาด้านการผลิตจากภัยธรรมชาติมากที่สุด รองลงมาคือปัจจัยการผลิตมีราคาแพง ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ส่วนปัญหาด้านการตลาดและราคา ได้แก่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาด้านที่ดินทำการเกษตร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ปัญหาด้านเงินทุน พบว่า ขาดแหล่งเงินทุน เงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อีกทั้งส่วนใหญ่เกษตรกรไม่ทราบข่าวสารทางการเกษตร ขาดความรู้ด้านการปรับปรุงผลผลิต การตลาด และการปรับปรุงดิน

สำหรับข้อเสนอแนะ พบว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการฯ และการทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะแผนดำเนินงานในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ต้องการของเกษตรกร และที่สำคัญคือประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการดำเนินงานโครงการฯ รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร ให้มีการรวมกลุ่มที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการวางแผนกับชุมชนในการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของตลาดและตัว เกษตรกรเอง ในลักษณะการรวมกลุ่มแบบองค์กรร่วม ระหว่างภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ ประสานความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาของเกษตรในชุมชนร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนประสานงานในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ