นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2556) ซึ่งพบว่า สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ส่งผลกระทบด้านพืช 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู ยโสธร มหาสารคาม อำนาจเจริญ นครพนม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 6,419,704 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 6,342,415 ไร่ พืชไร่ 74,123 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 3,166 ไร่ โดยขณะนี้ สำรวจพบว่ามีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 612,529 ราย พื้นที่เสียหาย 4,563,520 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4,509,590ไร่ พืชไร่ 52,540 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,390 ไร่
ในการนี้ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านการเกษตรเบื้องต้น แล้ว โดยผลกระทบและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงิน พบว่า มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 18,452.88 ล้านบาท แบ่งออกเป็นความเสียหายด้านข้าว 17,964.59 ล้านบาท ด้านพืชไร่ 460.30 ล้านบาท และด้านพืชสวนและอื่นๆ 27.98 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคการเกษตร ปี 2556 นั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง พบว่า ความเสียหายจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงภาคเกษตร ปี 2556 เท่ากับ 1,642.99 ล้านบาท และส่งผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพียงร้อยละ 0.39
มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง
ด้านความเสียหาย ผลกระทบ Real GDP ภาคเกษตร (ล้านบาท) ด้านพืช (ไร่) -ข้าว 1,605.24 -พืชไร่ 34.64 -พืชสวนและอื่น ๆ 3.11 รวมมูลค่าผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร 1,642.99 ร้อยละผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (%) 0.39 ประมาณการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ปี 2556* 4%
- ตัวเลขประมาณการจากสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2556
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เช่น การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกน้ำเพื่อแจกจ่าย มาตรการปฏิบัติการฝนหลวงและมาตรการอื่นๆ เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างอย่างต่อเนื่องไว้เรียบร้อยแล้ว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--