นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2556 พบว่า หดตัวลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2555 น้อยกว่าปี 2554 ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำลดลง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงฤดูฝนของปี 2555 เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทำให้ในปี 2556 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ลดลง โดยสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ได้ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงนี้ ค่อนข้างน้อย โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า
สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง และผลไม้ ส่วนผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งในส่วนของผลผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ประกาศให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังในบางพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน สำหรับผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในช่วงของการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่วนด้านราคา พืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากภัยแล้งที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลิตพืชต่างๆ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และความต้องการของตลาดโลกชะลอตัวลง ด้านการส่งออก สินค้าเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ และน้ำสับปะรด เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่ปริมาณและมูลค่าส่งออกข้าวกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากปริมาณการผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยผลผลิตไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตและการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ประกอบกับสภาพอากาศในแหล่งผลิตเอื้ออำนวย ทำให้ไก่เนื้อเจริญเติบโตได้ดี สำหรับปริมาณการผลิตสุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากระบบการผลิตที่ดีของเกษตรกร รวมถึงสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาสุกรที่เกษตรกรได้รับ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามความต้องการของตลาดในประเทศ ประกอบกับมีการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการปลดแม่ไก่ยืนกรงบางส่วนเพื่อรองรับในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนราคาไก่เนื้อลดลงจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็นผลมาจากสถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในแหล่งผลิตสำคัญในภาคใต้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรเริ่มลงลูกกุ้งมากขึ้น อีกทั้งยังไม่พบการระบาดของโรคกุ้งตายก่อนวัยอันควร ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ 2556 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ประมาณร้อยละ 12.1 เป็นผลจากความต้องการซื้อของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ห้องเย็นเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการห้องเย็นเร่งรับซื้อ เนื่องจากเกรงว่าจะขาดแคลนวัตถุดิบ ด้านการส่งออกสินค้าประมงของไทย สินค้าประมงที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ และกุ้งปรุงแต่ง ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงเป็นสำคัญ และสาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 2.4 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ที่มีการงดปลูกข้าวนาปรังรอบสองในบางพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดินลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การให้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 3.3 มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่สำคัญ คือ ไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง และรังนก โดยเฉพาะครั่ง ที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความต้องการเม็ดครั่งดิบของอุตสาหกรรมทำแชลแลคเคลือบเงาไม้ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาซื้อขายครั่งภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการเลี้ยงครั่งมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ดังนั้น การเลี้ยงครั่งจึงกลายเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งช่วยชดเชยรายได้หลักที่ลดลงจากการปลูกพืชผักและผลไม้ที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 คาดว่าภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จะปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะ ฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรและการเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยคาดว่า สาขาพืช ภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 — 5.0 แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในหลายด้าน เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และการปฎิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้ หากในเดือนพฤษภาคม 2556 ไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง คาดว่าผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สาขาปศุสัตว์ ปี 2556 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 — 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากเกษตรกรสามารถปรับระบบการเลี้ยงได้ดีขึ้นตามที่ภาครัฐให้การส่งเสริมการพัฒนาฟาร์มให้เป็นระบบ มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานเชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับมาตรฐานรับรองการผลิตเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้าน สาขาประมง ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 — 3.0 เนื่องจากเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดีขึ้น แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และปัญหาโรคระบาดก็ตามสำหรับผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทำให้กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดโลก ส่งผลให้ความต้องการกุ้งไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สาขาบริการทางการเกษตร ปี 2556 จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 — 2.3 ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญ เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน การขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร รวมทั้งค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่ค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรมีการจ้างบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ ปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 — 1.5 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นกังวลหรือจับตามองในขณะนี้ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสาขาป่าไม้ในไตรมาส 2 ปี 2556 หากปัญหาภัยแล้งยังคงขยายวงกว้างและยืดเยื้อออกไป คาดว่าจะทำให้ผลผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติและครั่งลดลง สำหรับการเผาถ่านไม้และการตัดไม้ยูคาลิปตัส คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
ตารางที่ 1 อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา 2556
ไตรมาส 1 ทั้งปี
ภาคเกษตร -0.4 3.5 — 4.5 สาขาพืช -1.9 4.0 — 5.0 สาขาปศุสัตว์ 2 1.8 — 2.8 สาขาประมง 3.8 2.0 — 3.0 สาขาบริการทางการเกษตร -2.4 1.3 — 2.3 สาขาป่าไม้ 3.3 0.5 — 1.5
ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--