สศก. ชี้เป้าตลาดส่งออกทดแทน ในภาวะเศรษฐกิจหดตัว

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2013 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผย สภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งตลาดสหภาพยุโรปและตลาดสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในสภาวะหดตัว มีแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาว แนะ ปี 56 ไทยต้องมุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ตลาดจีน และตลาดญี่ปุ่น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งตลาดสหภาพยุโรปและตลาดสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในสภาวะหดตัว เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภายในของทั้งสองตลาด โดยจะเห็นได้ว่าในปี 2555 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ไปสหรัฐอเมริกาเหลือเพียง 1.13 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1.23 แสนล้านบาทในปี 2554 และมูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปเหลือเพียง 1.08 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1.15 แสนล้านบาทในปี 2554 ในขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาของทั้งสองตลาดที่ผ่านมายังมุ่งเน้นเพียงการใช้มาตรการทางการเงินเป็นหลักเท่านั้น และส่อเค้าว่าทั้งสองตลาดจะมีแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาว จึงส่งผลให้ไทยจำเป็นจะต้องมุ่งสู่ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการส่งออกในทั้งสองตลาด

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงปี 2553 - 2555 พบว่า ไทยยังสามารถรักษาระดับของมูลค่าการส่งออกได้พอสมควร คือ การส่งออกไปโลกมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 9.9% ต่อปี จาก 8.24 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 9.85 และ 9.94 แสนล้านบาทในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ และหากจะมองแยกไปในแต่ละตลาดส่งออกที่สำคัญจะพบลักษณะของการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ที่ชัดเจน โดยพอจะสรุปสถานการณ์ภาพรวมในตลาดส่งออกที่สำคัญดังนี้

ตลาดอาเซียน 9 ประเทศ ถือได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรหลักของไทย โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16.4% ต่อปี จาก 1.68 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2.10 และ 2.27 แสนล้านบาทในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ โดยยังมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดโลกเพิ่มขึ้นด้วย จากเพียง 20% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 21% ในปี 2554 และ 23% ในปีล่าสุดตามลำดับ

ตลาดจีน แม้ว่าจะมีมูลค่าส่งออกยังไม่สูงมากโดยเปรียบเทียบ แต่กลับเป็นที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุด มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 21.6% ต่อปี จาก 0.59 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 0.73 และ 0.87 แสนล้านบาทในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย จากเพียง 7% ในปี 2553 และ 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 9% ในปี 2555 สำหรับ ตลาดญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญและมีเสถียรภาพมากที่สุดของไทย โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13.1% ต่อปี จาก 1.18 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 1.43 และ 1.51 แสนล้านบาทในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นด้วยจาก 14% ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 15% ในปี 2555

ตลาดสหภาพยุโรป แม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะยังคงมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.9% ต่อปี แต่หากพิจารณาปีต่อปีกลับพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร คือ จากที่เคยมีมูลค่าส่งออก 1.02 แสนล้านบาทในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2554 แต่กลับลดลงเหลือ 1.08 แสนล้านบาทในปี 2555 และมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อย จาก 12% ในปี 2553 และ 2554 เป็น 11% ในปี 2555 และ ตลาดสหรัฐอเมริกา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากลับมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยลดลง 2.2% ต่อปี และสถานการณ์ปีต่อปีมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรเช่นกัน คือ จากที่เคยมีมูลค่าส่งออก 1.18 แสนล้านบาทในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.23 แสนล้านบาทในปี 2554 แต่กลับลดลงเหลือ 1.13 แสนล้านบาทในปี 2555 และมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงพอสมควรจาก 14% ในปี 2553 เหลือ 12% และ 11% ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ

ทั้งนี้ สำหรับสินค้ายางพารา (เฉพาะพิกัดศุลกากร 4001) พบว่า มีลักษณะของความผันผวนทางด้านราคาเข้ามาเกี่ยวข้องมาก เนื่องจากหากพิจารณาในเชิงปริมาณส่งออกแล้ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยยังคงรักษาระดับได้ดี คือ อยู่ระหว่าง 2.73-2.99 ล้านตันต่อปี แต่ในเชิงของมูลค่ากลับพบว่ามีความผันผวน โดยมีมูลค่า 2.49 แสนล้านบาทในปี 2553 และเพิ่มเป็น 3.83 แสนล้านบาทในปี 2554 ก่อนจะลดลงเหลือเพียง 2.70 แสนล้านบาทในปี 2555

จากสถานการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าในปี 2556 ไทยคงจะต้องมุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ตลาดจีน และตลาดญี่ปุ่น และตลาดส่งออกซึ่งถือว่าเป็นคู่พันธมิตรใหม่จากการจัดทำ FTA ร่วมกัน เช่น ชิลี ซึ่งแม้ว่าจะมีมูลค่าการค้าน้อยแต่ก็ถือเป็นช่องทางใหม่ๆในการทำตลาดของไทย สำหรับตลาดสหภาพยุโรป คงต้องจับตาดูผลจากการเริ่มเจรจา FTA ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งแม้ว่าจะต้องเน้นการเจรจาเชิงรุกของสินค้าเกษตรเพื่อชดเชยสิทธิ GSP ซึ่งไทยจะถูกตัดสิทธิทั้งหมดในปี 2558 แต่ก็จะต้องแสวงหาจุดร่วมสำหรับภาคส่วนอื่นที่อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องการค้าเพียงอย่างเดียว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ