นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีความสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบัน สังคมมีความตื่นตัวในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีทางที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลได้คำนึงถึงความสำคัญ โดยส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในภาพรวม โดยจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 — 2554 ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน การเสริมสร้างศักยภาพการเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ และการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์
ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมด้านการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่เกษตรกรในการผลิตและบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี แก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในการผลิตทางการเกษตรที่เกื้อกูลกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยในตลาดโลก ซึ่งการดำเนินงานส่งผลให้เกษตรอินทรีย์ของไทยมีอัตราการขยายตัวของพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21/ปี และ มีพื้นที่ 212,000 ไร่ ผลผลิต 47,547 ตัน ในปี 2553 ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ฯ พบว่า มีการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน มีการส่งเสริม และ ถ่ายทอดการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในพื้นที่จำนวน 56.18 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์รวม 2.81 ล้านราย โดย ด้านการเสริมสร้างศักยภาพการเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รวมทั้งสิ้น 13,668 ฟาร์ม มีการเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมพร้อมดำเนินการศึกษาวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์จำนวน 327 เรื่อง
ด้านสุขภาพ พบว่า ภายหลังการดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร เกษตรกรมีอัตราการเจ็บป่วยลดลงเหลือร้อยละ 4 จากเดิมที่มีการเจ็บป่วยถึงร้อยละ 25 และยังช่วยลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เฉลี่ยปีละ 5,550 บาท จาก 7,052 บาท ในปี 2550 และลดเหลือ 1,502 บาท ในปี 2554 รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรอินทรีย์ปีเพาะปลูก 2553/54 โดยพบว่ามีสัดส่วนคนจน ร้อยละ 22 และมีรายได้สุทธิของครัวเรือนเกษตรอินทรีย์ยากจนเฉลี่ย 13,265 บาท/คน/ปี ซึ่งน้อยกว่าครัวเรือนเกษตรลดใช้สารเคมี ที่มีสัดส่วนคนจนคิดเป็นร้อยละ 26 และมีรายได้สุทธิครัวเรือน ลดใช้สารเคมียากจนเฉลี่ย 12,575 บาท/คน/ปี
ด้านสิ่งแวดล้อม มีการเน้นการฟื้นฟูสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากการตรวจคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพดินที่ปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุในพื้นที่ของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ ประเภทไม้ผล พืชผัก และสมุนไพรมามากกว่า 3 ปี เปรียบเทียบกับพื้นที่ของเกษตรกรข้างเคียงที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ พบว่า ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น และมีระดับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับดินเปรี้ยวลงจากร้อยละ 31 เหลือร้อยละ 4 อีกด้วย
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2551 - 2554 พบว่า ปริมาณการส่งข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ซึ่งผู้บริโภคภายในประเทศยอมรับคุณภาพมาตรฐานอินทรีย์มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ในระยะต่อไป ควรดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะบูรณาการตั้งแต่ระดับพื้นที่ สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยทางการเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรให้มากขึ้น ตลอดจนควรมีแผนส่งเสริมด้านตลาดสินค้าอินทรีย์ที่แน่นอน สนับสนุนระบบพันธะสัญญา และการสร้างเครือข่ายสหกรณ์
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะต่อไป คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 มอบหมายกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ร่วมด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 เห็นชอบกรอบแนวคิดการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2559 รวม 11 ข้อ และเห็นชอบ การแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2559 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ (นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล) เป็นรองประธาน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2559 ตามกรอบแนวคิดดังกล่าว โดยมีวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน” ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา องค์ความรู้ ต่อยอดงานวิจัย และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับเข้าถึงได้ง่าย ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายการผลิต การแปรรูป การตลาดทุกระดับ ให้เข้มแข็งทั้งเครือข่ายเก่าและใหม่ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย สนับสนุนการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานให้แป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่ง (ร่าง) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2559 และได้นำเข้าสู่ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาค เพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความครอบคลุม และสมบูรณ์ในทุกประเด็น โดยครั้งที่ 1 จัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (วันที่ 15 ก.พ.2556 จ.ขอนแก่น) ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ (วันที่ 18 ก.พ.2556 จ.เชียงใหม่) ครั้งที่ 3 ภาคใต้ (วันที่ 4 มี.ค.2556 จ.สงขลา) และครั้งที่ 4 ภาคกลาง (วันที่ 8 มี.ค.2556 กรุงเทพฯ) ซึ่งในขณะนี้ ผลจากการระดมความคิดเห็นทั้ง 4 ภาค สศก.กำลังประมวล และปรับปรุง (ร่าง)ยุทธศาสตร์ ให้มีความเหมาะสม ตามข้อคิดเห็น เพื่อเสนอเข้าสู่การประชุม คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 — 2559 ในวันที่ 5 เมษายน 2556 และเสนอคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติในลำดับต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--