เกษตรฯ ขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจ ปี 56 มุ่งพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer

ข่าวทั่วไป Monday March 25, 2013 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ ขับเคลื่อนเกษตรเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกาศการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจเหมาะสมของปี 56 ใน 6 ชนิดสินค้าแล้ว ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มุ่งให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าที่ให้เป็น Smart officer สู่การปฏิรูปภาคการเกษตรไทยที่แข่งขันได้ในตลาดโลก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญใช้ในการกำหนดนโยบายพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย เป็นการจัดสรรหรือนำที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ มากำหนดใช้ในการเพาะปลูกข้าว พืชไร่ ผัก ไม้ผล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจในสินค้าเกษตรที่สำคัญไปแล้ว 13 ชนิดสินค้า คือ หน่อไม้ฝรั่ง ปาล์มน้ำมัน หอมแดง หอมหัวใหญ่ โกโก้ มันสำปะหลัง กระเทียม ไก่เนื้อ กาแฟ ฝ้าย ปอ สับปะรด อ้อย และยังมีสินค้าเกษตรที่มิได้ออกประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ แต่ประกาศให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน คือ โคนม หม่อนไหม ข้าวนาปรัง ทุเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมและส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรให้มั่นคงและเป็นธรรม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

สำหรับกลไกในการขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะประกอบด้วยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ คณะอนุกรรมการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตร 11 คณะ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักแต่ละสินค้าและ สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการในแต่ละคณะ ซึ่งการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต ซึ่งประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเลือกพืชที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมของดินและสภาพพื้นที่ ดังนั้น เมื่อสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เท่ากับสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรได้เต็มศักยภาพ ลดการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยเคมี นำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศการกำหนดเขตเหมาะสม สำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้อมูลที่ได้ประกาศจะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล ไปดำเนินการเชื่อมโยงในระดับกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้านการแปรรูป การตลาด และการจัดจำหน่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ เน้นให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officer สู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย ที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้จัดให้มีการประชุมและมอบหมายอนุกรรมการให้ดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลและหาแนวทางในประเด็นต่างๆ ทั้งข้อมูล Demand และ Supply แนวทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลำดับชนิดสินค้า เป้าหมายที่จะดำเนินการ โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามและดูแลข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจสอบพื้นที่ จำนวนเกษตรกร และผลผลิต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและกรมการค้าภายในร่วมกันดูแลสถานการณ์ตลาดและการผลิตสินค้า กรมพัฒนาที่ดิน ตรวจสอบศักยภาพดิน กรมวิชาการเกษตรดูเรื่องเทคโนโลยี และ Crop Requirement เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ