ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Friday March 29, 2013 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

  • โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 มีดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม)

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :- ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำจึงกำหนด จำนวน 7.0 ล้านตัน จากที่ สศก.คาดการณ์ผลผลิตไว้ 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน ร้อยละ 20 โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า ร้อยละ 20 รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ มีมติเห็นชอบ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ เข้าร่วมโครงการฯ โดยมอบหมายให้กรมการข้าวเป็นผู้รับผิดชอบกำหนดพันธุ์ข้าวว่า มีพันธุ์ใดบ้างที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ

4) ระยะเวลาดำเนินการ

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ตุลาคม 2555 — 15 กันยายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 18 มีนาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา                 1,726,707      สัญญา
                             - จำนวนตัน                  11,099,540        ตัน
                             - จำนวนเงิน                178,702.590    ล้านบาท
  • ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการลดปริมาณการสั่งซื้อ เพราะตลาดปลายทางชะลอความต้องการ ทำให้ปริมาณการซื้อขายข้าวมีไม่มาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,811 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,928 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.73

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,071 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,160 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.87

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,526 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,675 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.18

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,430 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.52

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,203 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,059 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,734 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 325 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,435 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 1,025 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,171 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.46 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 736 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 573 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,699 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,043 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 344 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 568 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,553 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,925 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.22 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 372 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 566 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,495 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 573 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,867 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.22 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 372 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.1432 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The VietNam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าว ช่วง 1 ม.ค. — 14 มี.ค. 2556 เวียดนามส่งออกรวม 906,173 ตัน มูลค่า 403.533 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 และร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 787,179 ตัน มูลค่า 395.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สถานการณ์ราคาข้าวอ่อนตัวลงจากสัปดาห์ก่อนแม้ว่าโครงการรับซื้อข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้จำนวน 1 ล้านตัน จะยังคงดำเนินอยู่แต่เนื่องจากในช่วงนี้ความต้องการข้าวจากต่างประเทศทั้งจากจีน และประเทศในแถบแอฟริกามีไม่มากนัก ประกอบกับในขณะนี้เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้เก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว (the winter-spring crop) ไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ทำให้อุปทานข้าวในตลาดยังคงมีปริมาณมาก ทั้งนี้ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 400-410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,803 บาท/ตัน) ลดลงจากระดับ 415 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,094 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.41 ซึ่งยังคงสูงกว่าราคาข้าวเกรดเดียวกันของอินเดีย ซึ่งราคาอยู่ในช่วง 390-440 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,094 บาท/ตัน)

ผู้ค้าข้าวรายหนึ่งรายงานว่าในปีนี้ ประเทศในแถบแอฟริกา เช่น ไอวอรี่โคสต์ กาน่า เซเนกัล แองโกล่า และแอลจีเรีย ได้หันมาซื้อข้าวจากเวียดนาม แม้จะมีปริมาณไม่มากนัก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 405,544 ตัน จำแนกเป็นข้าวขาว 5% จำนวน 155,627 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 5,635 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 120,548 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 29,955 ตัน ปลายข้าวจำนวน 20,478 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 10,370 ตัน และข้าวหอมจำนวน 60,781 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ โดยตลาดหลักได้แก่ ตลาดเอเชียจำนวน 255,535 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 81,379 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 55,159 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นตลาดอื่นๆ

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

พม่า

หนังสือพิมพ์ The New Light of Myanmar รายงานว่า พม่าจะเริ่มส่งออกข้าวล็อตแรกไปยังญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม 2556 หลังจากที่สามารถประมูลขายข้าวให้ผู้ซื้อของญี่ปุ่นได้ โดยการส่งมอบข้าวจำนวน 5,000 ตัน จะดำเนินการโดย MAPCO ซึ่งได้ตกลงขายข้าวในราคา 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ให้แก่บริษัท Mitsui Corporation

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมข้าวของพม่า เปิดเผยว่า บรรดาผู้ผลิตข้าวในภูมิภาคต่างเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ ซึ่งพม่าก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมยื่นซองประมูลและในที่สุดก็เป็นผู้ชนะการประมูล ถือเป็นครั้งแรกที่พม่าเข้าไปตีตลาดในญี่ปุ่นได้

ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พม่าเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แต่ได้สูญเสียตำแหน่งให้กับไทยหลังจากภาคการผลิตถูกรัฐเข้าควบคุมกิจการ จากนั้นปริมาณการผลิตก็ลดลงอันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารในปี 2505

ประธานาธิบดีพม่า กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 ช่วงปี 2539-2544 โดยที่พม่าได้ตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 1.5 ล้านตันในปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556

กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของMyanmar Agribusiness Public Corporation Limited (MAPCO) เปิดเผยว่า บริษัท Mitsui & Co ของญี่ปุ่นจะร่วมมือกับ MAPCO (ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนของพม่าที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555) โดยจะมีการสร้างโรงสีข้าวและโรงงานแปรรูปข้าวขนาดใหญ่ (Integrated Rice Complex Project (IRCP) factories) เพื่อแปรรูปสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยได้มีการวางแผนโครงการไว้ 15 แห่ง เช่น

เขตเศรษฐกิจพิเศษย่างกุ้ง เป็นต้น โดยแต่ละโครงการจะมีงบลงทุนประมาณแห่งละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปีนี้คาดว่าจะเริ่มมีการก่อสร้างประมาณ 4 แห่ง

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตร (The Department of Agriculture) เปิดเผยว่า ใน 2556 ฟิลิปปินส์จะซื้อข้าวประมาณ 187,000 ตัน ลดลงจากจำนวน 500,000 เมื่อปี 2555 และคาดว่าจะเป็นการนำเข้าครั้งสุดท้ายก่อนที่ในปีถัดไปฟิลิปปินส์จะบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศ (self-sufficient) ตามนโยบายของรัฐบาล

โฆษกของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์จะไม่นำเข้าข้าวตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศภายในปี 2557 พร้อมทั้งกล่าวว่า การนำเข้าข้าวในปีนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 8 ของปริมาณข้าวนำเข้า 2.4 ล้านตันในปี 2553 และรัฐบาลคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้ราวๆ 20 ล้านตันในปีนี้

ทั้งนี้ แหล่งข่าวคาดว่าองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority : NFA) จะจัดการประมูลซื้อข้าวจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา และไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเป็นการซื้อในแบบรัฐต่อรัฐ (government-to-government deals) ส่วนการส่งมอบคาดว่าจะมีการส่งมอบก่อนเดือนมิถุนายน 2556

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติการเกษตร (Bureau of Agriculture Statistics: BAS) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวน 2.02 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภคประมาณ 59 วัน) ลดลงร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาทีมีจำนวน 2.33 ล้านตัน และลดลงร้อยละ 19.8 จากจำนวน 2.52 ล้านตัน ในเดือนมกราคม 2556 ขณะที่สต็อกข้าวในคลังของ NFA มีจำนวนประมาณ 576,000 ตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภค 17 วัน) ลดลงร้อยละ 34.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

จากจำนวนสต็อกข้าวทั้งหมดแบ่งออกเป็นสต็อกในคลังเอกชน (commercial warehouses) มีสัดส่วนร้อยละ 27.5 สต็อกในภาคครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 44 ขณะที่สต็อกข้าวในคลังของ NFA มีสัดส่วนร้อยละ 28 จากสต็อกทั้งหมด

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ