นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ สศก. ในฐานะหน่วยงานหลัก ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจา FTA ไทยและชิลี ซึ่งพิจารณาท่าทีการเปิดตลาดด้านภาษีของสินค้าเกษตร และได้มีการประชุมเจรจากันมารวม 6 ครั้ง โดยการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา สามารถหาข้อยุติได้แล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในของแต่ละฝ่าย โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2556 สำหรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตร สามารถสรุปผลได้ ดังนี้ ผลการเจรจาในเชิงรุก ทางชิลีได้ตกลงที่จะเปิดตลาดให้แก่ไทย โดยยกเลิกภาษีสินค้าส่วนใหญ่ให้เป็น 0% ทันทีในปีแรกของความตกลงฯ ซึ่งส่งผลให้ไทยจะได้เปรียบประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำ FTA กับชิลี โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการลดภาษี ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด อาหารปรุงแต่ง แป้งมันสำปะหลัง อาหารสุนัขสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ ในสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว ชิลีก็ได้เปิดตลาดให้เป็นพิเศษด้วย ซึ่งชิลีได้ตกลงที่จะทยอยลดภาษีข้าวจนเหลือ 0% ในปีที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตลาดข้าวที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคู่เจรจาอื่นของชิลี ดังเช่น ในความตกลง FTA ชิลี-มาเลเซีย ชิลีก็ไม่ลดภาษีข้าวให้แก่มาเลเซีย และในกรอบ FTA ชิลี-เวียดนาม ชิลีก็ทยอยลดภาษีจนเหลือ 0% ในปีที่ 10 เป็นต้น
สำหรับผลการเจรจาในเชิงรับ ฝ่ายชิลีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศตนเอง เช่น องุ่น และไวน์ ในขณะที่ไทยได้คำนึงประเด็นความอ่อนไหวต่างๆ กล่าวคือ ผลกระทบจากการเปิดตลาดให้แก่ชิลีโดยตรง เช่น กรณีองุ่น และสินค้าประมง และผลกระทบทางอ้อมต่อพันธกรณี FTA ที่มีอยู่แล้วของไทย เช่นกรณีขององุ่น ส้มแมนดาริน และชีส ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทบทวนการเปิดตลาดภายใต้ FTA ไทย - ออสเตรเลีย และไทย - นิวซีแลนด์ ฯลฯ รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดภาระในการดำเนินการในประเทศของไทยเอง เช่น กรณีสินค้าที่มีโควตาภาษี ซึ่งแต่ละสินค้าจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลอยู่
ดังนั้น ในกลุ่มสินค้าประมง อันเป็นสินค้าซึ่งภาษีของไทยในปัจจุบันคือ 5% และมีข้อกังวลจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าควรจะให้คงอัตราภาษีนี้ไว้ในนานที่สุดเพื่อการปรับตัว จึงได้กำหนดให้บรรจุสินค้ากลุ่มนี้สามารถคงภาษีเดิมไว้เป็นระยะเวลา 8 ปี และจะลดเหลือ 0% ทันที ในปี 2563 เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวภายใต้ฐานภาษีเดิม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลกระทบตั้งแต่ในขั้นของการเจรจา และสำหรับสินค้าที่มีโควตาภาษี 23 รายการ (เช่น นมผง กระเทียม หอมหัวใหญ่ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น) ซึ่งไทยมีมาตรการโควตาภาษีปกป้องอยู่ตามสิทธิ์ภายใต้ WTO นั้น แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ไทยจะไม่ได้นำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากชิลีมากนัก แต่ก็ได้นำกลุ่มสินค้านี้ไปลดภาษีเฉพาะอัตราภาษีในโควตาเท่านั้น แต่ยังคงอัตราภาษีนอกโควตา/ปริมาณโควตาไว้ตามที่ผูกพันภายใต้ WTO ในลักษณะเดียวกันกับกรอบ FTA ที่ผ่านมา
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าผลการเจรจาในส่วนการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ FTA ไทย - ชิลีนั้น ได้ครอบคลุมทั้งการเพิ่มโอกาสของสินค้าเกษตรส่งออกของไทย และการชะลอผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเจรจา ซึ่งการกำหนดท่าทีเจรจาดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงาน ภาคเอกชน และสมาคม/สหกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว นับเป็นการดำเนินงานโดยเน้นกระบวนการทำงานมากกว่ามุ่งเน้นผลลัพธ์ของการเจรจา ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในปี 2555 การค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) มีมูลค่าการค้ารวม 5,373 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร 1,493 ล้านบาท โดยสินค้าสำคัญคือ กลุ่มอาหารแปรรูป (1,162 ล้านบาท) และมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตร 3,879 ล้านบาท มีสินค้าสำคัญคือ กลุ่มประมง (3,110 ล้านบาท) ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาแปรรูป ?
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--