1.1 การตลาด
- โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2
1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่ กษ.ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง
ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ และพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ
4) ระยะเวลา
(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56
(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57
5) ผลการดำเนินงาน
จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 31 มีนาคม 2556)
- จำนวนสัญญา 1,757,121 สัญญา - จำนวนตัน 11,453,865 ตัน - จำนวนเงิน 184,407.231 ล้านบาท
- ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการลดปริมาณการสั่งซื้อ เนื่องจากตลาดปลายทางชะลอความต้องการ ทำให้ปริมาณการซื้อขายข้าวมีไม่มาก
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,677 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,799 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.77
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,712 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,040 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.26
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,645 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,834 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,201 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,879 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 955 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,005 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,255 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 1,008 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,274 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.30 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,389 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,409 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 20 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 558 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,243 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,263 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 20 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,389 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,409 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 20 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.1096 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The VietNam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-31 มีนาคม 2556 มีจำนวน 706,483 ตัน มูลค่า 310.446 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในเดือนมีนาคมมีการส่งออกข้าวไปยังตลาดเอเชีย จำนวน 465,529 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65.9 ตลาดแอฟริกา จำนวน 123,105 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17.4 ตลาดอเมริกา จำนวน 91,995 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13 และส่วนที่เหลือส่งไปยังตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย โดยชนิดข้าวที่ส่งออก ประกอบด้วย ข้าวขาวเกรด 1-10% จำนวน 219,798 ตัน คิดเป็นร้อยละ 31.1 ข้าวขาวเกรด 15-20% จำนวน 227,425 ตัน คิดเป็นร้อยละ 32.2 ข้าวขาวเกรด 25-35% จำนวน 33,043 ตัน คิดเป็นร้อยละ 5 ข้าวหอม จำนวน 91,801 ตัน คิดเป็นร้อยละ 13 ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ สำหรับในช่วง 1 มกราคม—31 มีนาคม 2556 เวียดนามส่งออกข้าวรวม 1.451 ล้านตัน มูลค่า 641.361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 และร้อยละ 21.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 1.087 ล้านตัน มูลค่า 529.859 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เวียดนามได้ทำสัญญาขายข้าวไปแล้วประมาณ 3.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 20 โดยในจำนวนนี้มีการส่งมอบแล้วประมาณ 1.1 ล้านตัน
สถานการณ์ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลงหลังจากที่สมาคมอาหารได้ยกเลิกการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ (MEP) สำหรับข้าวขาว 5% จากเดิม ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ที่เคยกำหนดไว้ที่ 410 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้การส่งออกข้าวคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวคาดว่า ราคาข้าวจะมีแนวโน้มลดลงอีก เพราะยังไม่มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาหนุนตลาด โดยราคา เอฟ.โอ.บี.ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 398-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,615 บาท/ตัน) ลดลงจาก 405-410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,862 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.09 ขณะที่ราคา เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 25% อยู่ที่ 375 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (10,916 บาท/ตัน) เพิ่มขึ้นจาก 380 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,062 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32 ขณะที่ราคาข้าวของอินเดีย อยู่ในช่วง 385-450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,153 บาท/ตัน)
กระทรวงการค้า (Ministry of Industry and Trade) ระบุว่า เวียดนามได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU)
กับประเทศกินีเพื่อที่จะส่งออกข้าวไปยังประเทศกินี (Republic of Guinea) ปีละ 300,000 ตัน ในช่วงปี 2556-2558 โดยในแต่ละปีประเทศกินีมีความต้องการนำเข้าขาวปีละประมาณ 350,000-400,000 ตัน
ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
พม่า
นายกสมาคมชาวนาพม่า (The Myanmar Farmers Association) ระบุว่า ราคาข้าวเปลือกฤดูนาปรัง (summer paddy) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 50 เพราะมีปัจจัยหนุน คือ ความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าจะทรงตัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว
สมาคมฯ ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการกำกับนโยบายสำรองข้าวแห่งชาติ (National Rice Reserves Supervisory Committee) เพื่อขอให้รัฐบาลเข้ามารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเก็บสต็อกไว้ ซี่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกฤดูนาปรัง ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 169-193 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (5,268 บาท/ตัน) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (130 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 3,784 บาท/ตัน)
ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
อินเดีย
องค์การอาหารแห่งชาติ (The Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า โครงการจัดหาข้าวของรัฐบาลในปีการผลิต 2555/56 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 - 8 มีนาคม 2556 สามารถจัดหาข้าวได้แล้วประมาณ 27.885 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 26.911 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกข้าวในคลังของรัฐบาล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556 มีจำนวนประมาณ 35.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวน 33.17 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
คณะกรรมการบริหารการตลาดและการตรวจสอบ กระทรวงเกษตร (The Directorate of Marketing & Inspection (DMI), Ministry of Agriculture) รายงานสถานการณ์ราคาข้าวขายส่งเฉลี่ยภายในประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ปรับลดลงเหลือ 459 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (13,361 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 5 จาก 488 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (14,205 บาท/ตัน) อย่างไรก็ตาม ราคาปัจจุบันยังคงสูงกว่าราคาในเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา (456 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 13,274 บาท/ตัน) ประมาณร้อยละ 7
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังไม่น่าเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการควบคุมการส่งออกทั้งข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และข้าวบาสมาติในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะอุปทานข้าวในตลาดยังคงมีปริมาณมากทั้งจากการคาดการณ์ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น การจัดหาข้าวของรัฐบาลที่มีปริมาณมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมถึงระดับสต็อกข้าวของรัฐบาลที่ยังคงมากกว่าสต็อกขั้นต่ำอยู่ถึง 2-3 เท่า นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2555/56 อินเดียจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 8.5 ล้านตัน โดยเป็นข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จำนวน 4.7 ล้านตัน และข้าวบาสมาติ จำนวน 3.8 ล้านตัน
ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 - 7 เมษายน 2556--