ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Thursday April 18, 2013 15:08 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

  • โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่ กษ.ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ และพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 31 มีนาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา                 1,757,121    สัญญา
                             - จำนวนตัน                  11,453,865    ตัน
                             - จำนวนเงิน                184,407.231    ล้านบาท
  • ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวคุณภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น และเกษตรกรส่วนใหญ่นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาล

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,739 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,677 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.40

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,829 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,712 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.20

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,675 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,650 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.20

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,247 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,988 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,834 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.72 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 154 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,019 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,408 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,005 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,255 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.39 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 153 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 571 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,479 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,389 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 90 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 566 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,334 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 558 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,243 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.43 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 91 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 564 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,277 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,389 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 112 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 28.8594 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

ฟิลิปปินส์และกัมพูชาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นทางการ (The Memorandum of Agreement: MOA) เรื่อง ส่งเสริมการค้าข้าวระหว่าง 2 ประเทศ โดยข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นการเปิดโอกาสให้องค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (The National Food Authority: NFA) สามารถนำเข้าข้าวจากกัมพูชาได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยดำเนินการผ่านบริษัท Green Trade ของทางการกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เปิดเผยว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.)

เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นและมีการลงทุนในส่วนของเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2556 กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้จำนวน 95,228 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 เมื่อเทียบกับจำนวน 38,400 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2555 พร้อมทั้งกล่าวว่า กัมพูชาจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวให้ได้จำนวนทั้งหมด 1 ล้านตันภายในปี 2558 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาสามารถส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวแต่ละชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ (Phka Malis/Jasmine Rice) จำนวน 42,306 ตัน ข้าวขาว (Long Grain White Rice) จำนวน 45,697 ตัน ข้าวหอม neang malis จำนวน 4,236 ตัน โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ ได้แก่ โปแลนด์ จำนวน 15,200 ตัน ฝรั่งเศส จำนวน 15,169 ตัน มาเลเซีย จำนวน 12,137 ตัน จีน จำนวน 8,754 ตัน

กระทรวงเกษตรกัมพูชา (The Ministry of Agriculture) รายงานว่า เมื่อเดือนมกราคม 2555 กัมพูชาสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ 9.31 ล้านตัน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว จะมีข้าวสารประมาณ 3 ล้านตัน สำหรับส่งออก

โดยในปี 2555 กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้รวมทั้งสิ้น 205,717 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับ จำนวน 201,899 ตัน ในปี 2554

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติการเกษตร (BAS) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มีนาคม 2556 มีจำนวน 1.94 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภคได้ประมาณ 57 วัน) ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มี สต๊อกข้าว จำนวน 2.01 ล้านตัน และลดลงร้อยละ 3.9 จากจำนวน 2.02 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ทั้งนี้สต็อกข้าวในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวนประมาณ 579,000 ตัน (เพียงพอสำหรับการบริโภคได้ประมาณ 17 วัน) ลดลงร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในปี 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้กำหนดปริมาณนำเข้าข้าวเพื่อสำรองคลังสำหรับการบริโภคในช่วงฤดูแล้ง Lean Season (มิถุนายน—สิงหาคม) จำนวน 187,000 ตัน ลดลงร้อยละ 60 จากปี 2555 ซึ่งได้กำหนดโควต้านำเข้า จำนวน 500,000 ตัน โดยการนำเข้าข้าวดังกล่าว จะดำเนินการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G-to-G) โดยหน่วยงาน NFA (National Food Authority) จะเชิญประเทศที่มีข้อตกลงการซื้อข้าวกับฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันมี

2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม เพื่อประมูลขายข้าวจำนวนดังกล่าวให้แก่ ฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ การประมูลจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2556 เพื่อให้สามารถส่งข้าวไปยังฟิลิปปินส์ได้ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2556 โดยปริมาณข้าวที่นำเข้าประเทศ NFA จะรวมอยู่ในโควต้านำเข้าต่ำสุด (Minimum Access Value- MAV) ตามข้อกำหนดของ WTO ที่ฟิลิปปินส์มีข้อตกลงว่า จะให้มีโควตานำเข้าข้าวขั้นต่ำได้ 350,000 ตันต่อปี ซึ่งกำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 40 หากเกินกว่าโควตานำเข้าข้าวนี้ จะต้องเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 50

ที่มา : ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2556 อินเดียสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 864,000 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.1 ล้านตันในเดือนธันวาคม 2555 เนื่องจากในช่วงดังกล่าว ความต้องการข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับราคาข้าวในประเทศค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2556 มีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (Non-basmati rice) จำนวน 544,000 ตัน ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับจำนวน 809,000 ตันในเดือนธันวาคม 2555 ขณะที่ข้าวบาสมาติมีการส่งออกได้จำนวน 320,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับจำนวน 287,000 ตันในเดือนธันวาคม 2555

ในช่วงที่ผ่านมา ราคาข้าวของอินเดียปรับตัวสูงขึ้น เพราะรัฐบาลได้ปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร (Minimum support price of paddy) ประมาณร้อยละ 16 ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 12 จากปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคากับประเทศเวียดนาม พม่า และปากีสถาน จึงส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียส่งออกข้าวได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกข้าวนึ่ง และข้าวบาสมาติยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวในปีนี้ได้ประมาณ 8.1 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ประมาณ 10.6 ล้านตัน

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 เมษายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ